ทำไมสถานบันเทิงผิดกฎหมาย นายบ่อน ตู้ม้า จึงไม่กลัวผู้ว่าราชการจังหวัด

ยุติธรรมวิวัฒน์

 ทำไมสถานบันเทิงผิดกฎหมาย นายบ่อน ตู้ม้า จึงไม่กลัวผู้ว่าราชการจังหวัด

 

                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

สถานการณ์ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติและประชาชนคนไทยอย่างย่อยยับเหลือคณานับนั้น!

เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายว่ามีต้นตอมาจากปัญหา “คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง” และ “บ่อนการพนัน” ที่ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ได้ปล่อยปละละเลย หรือ “รู้เห็นเป็นใจ” ให้เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

อันที่จริง ปัญหาสองเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานตั้งแต่ครั้งตั้ง รัฐบาล คสช.ใหม่ๆ ในการปฏิวัติยึดอำนาจเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ แล้ว

เอาเฉพาะเรื่องบ่อน เมื่อเกือบสิบปีก่อนผู้คนคงได้ยินชื่อสถานอาบอบนวด “โคลอนเซ่” ย่านถนนพระรามเก้า ที่มี “ผีพนัน” ทั้งไทยและต่างชาติเข้าไปเล่นกันวันละหลายร้อย หรืออาจนับพัน

นั่นคือ “ตำนาน” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ บ่อนกลางกรุงขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่เปิดท้าทายกฎหมายและประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าได้ “ทำเงิน” ให้กับตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ จนอิ่มหนำสำราญกันมากมาย!

จนกระทั่งนายบ่อนเห็นว่าที่ทางชักคับแคบเกินไป  ไม่เพียงพอต่อการรับรองลูกค้าได้!

จึงได้ย้ายไปเช่าที่ดินเปล่า ย่าน สน.สุทธิสาร และสร้างอาคารขนาดใหญ่ขึ้นรองรับ ผีพนัน ซึ่งแต่ละวันมีผู้เข้าไปเล่นกันนับพันคนแทน

จนกระทั่ง คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.กทม.ในขณะนั้นทนไม่ไหว ได้นำภาพการเล่นพนันในบ่อนดังกล่าวมาเปิดในสภา เป็นข่าวฮือฮาอยู่ระยะหนึ่ง

ซึ่งทำให้ ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบหลายระดับ ต้องส่งสัญญาณให้รีบขนย้าย ใช้รถบรรทุกสิบล้อขนอุปกรณ์การพนันหนีกันทั้งคืน!

เมื่อขนย้ายไปเรียบร้อยแล้ว พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง จเรตำรวจแห่งชาติ พร้อมตำรวจผู้ใหญ่หลายคนจึง ไปเดินตรวจตรา!

โดยพบว่ามีแต่อาคารว่างเปล่า ไม่ต่างจากการตรวจบ่อนที่จังหวัดระยองเมื่ออาทิตย์ก่อนแต่อย่างใด?

กรณีนี้ตำรวจแห่งชาติก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนทั้งคดีอาญาและวินัยว่ามีตำรวจคนใดรู้เห็นเป็นใจ หรือบกพร่องต่อหน้าที่บ้างหรือไม่ เหมือนการสอบสวนในหลายกรณี?

ซึ่งผลสรุปสุดท้ายไม่พบว่ามีหัวหน้าตำรวจระดับใด ทั้งสถานี กองบังคับการ และกองบัญชาการ มี “พฤติกรรมรับส่วยสินบน” หรือแม้กระทั่ง “บกพร่องต่อหน้าที่”ถูกลงโทษทางวินัยอะไรแม้แต่คนเดียว?

การสอบสวนคดีอาญาและวินัยตำรวจไทยนั้น เป็นเรื่องที่มีปัญหามาช้านาน

การปล่อยให้องค์กรตำรวจรับผิดชอบการสอบสวนคดีทุกประเภทตามลำพัง แม้กระทั่งกรณีที่ตำรวจเป็นผู้กระทำผิดอาญาเสียเอง!

จึงเป็นเรื่องที่เสียงบประมาณและเสียเวลาไปอย่างเปล่าประ โยชน์ แทบไม่เคยเกิดมรรคผลแท้จริงในการลงโทษใครได้แต่อย่างใด

ซ้ำหลายกรณียังกลายเป็นการ “ฟอกขาว” ให้กับตำรวจผู้ถูกกล่าวหาทุกระดับอีกด้วย!

อย่างปัญหาอบายมุข ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงเถื่อนหรือเปิดเกินเวลา บ่อนการพนัน และ “ตู้ม้า” ล่าค่าอาหารเด็ก ที่ถูกติดตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมากมาย ประมาณว่า “หลายหมื่นตู้”

ซึ่งไม่ทราบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรู้บ้างหรือไม่ว่า มี “พลตำรวจเอก” คนใดเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง “อย่างที่ตำรวจผู้น้อยและประชาชน” รู้กันมานานแล้วบ้าง!

หรือเรื่องบ่อนในจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ที่ความจริงปรากฏจากผลการสอบสวนโรค ของสาธารณสุขจังหวัด จากผู้ติดเชื้อโควิด

ก็ยังถูกบิดเบือนจากตำรวจผู้รับผิดชอบอย่าง หน้าด้านๆ ว่า “ไม่ใช่บ่อน”!

แต่เป็นเพียง “สถานที่ลักลอบเล่นการพนัน” เท่านั้น โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ก็ยังนำ “คำลวง” ของตำรวจดังกล่าวไปพูดออกสื่อในการแถลงข่าวของ ศบค.แทบทุกวัน

คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และพูดออกสื่อขึงขังว่า ถ้าหากมีใครไม่ว่าบุคคลภายนอกหรือตำรวจระดับใดเป็นผู้กระทำหรือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ทุกคนต้องถูกลงโทษตามกฎหมายและอาจถึงขั้นยึดทรัพย์จนหมดเนื้อหมดตัว!

ขอเรียนว่า ความจริงที่ชั่วร้ายเรื่องนี้ทั้งหมด จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการดังกล่าว ไม่มีตำรวจร่วมแม้แต่คนเดียว เท่านั้น!

นั่นคือวิธีจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทั้งอดีตและปัจจุบันที่ยังมีเรื้อรังอยู่บางส่วน

เช่น อุปกรณ์การพนันสารพัดที่ถูกสั่งให้ขนย้ายกันอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งทำตกร่วงหล่นอยู่กลางถนนให้ผู้คนหัวเราะ ขำกันทั้งประเทศปนสมเพช นั้น!

ปัจจุบันมันได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในสถานที่ใด? ล้วนแต่มีเชื้อโรคร้ายติดอยู่ทั้งสิ้น!

นอกจากนั้น ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกประหลาดใจว่า ในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมา ประชาชนมักจะเห็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้กระทั่งชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ออกสืบสวนจับกุมบ่อนการพนัน และสถานบันเทิงผิดกฎหมายด้วยตัวเองกันเป็นส่วนใหญ่

แทบไม่มีใครเห็น “นายพลตำรวจ” ทั้ง ผบก. ผบช. หรือตำรวจแห่งชาติมีบทบาทในการตรวจจับกุมเลย?

จนกระทั่งทำให้ผู้คนเข้าใจว่า การปราบปรามแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายกลายเป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ และนายอำเภอไปแล้วก็มี

ฝ่ายปกครองไปจับแล้ว ก็จะตามมาด้วยคำสั่งของ ผบก. ผบช. หรือแม้กระทั่ง ผบ.ตร. ให้หัวหน้าสถานีและผู้รับผิดชอบไปปฏิบัติราชการที่ ศปก. หรือศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ กันระยะหนึ่ง

พร้อมกับตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ ไม่ถือเป็นการสอบสวนตามกฎหมายอะไร ที่จะสามารถใช้ในการลงโทษทางวินัยกับตำรวจคนใดได้ทันที

เพราะหากสรุปว่า มีหลักฐาน ก็ต้องตั้ง “กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง” อีกครั้ง!

คณะกรรมการลวงโลก” ที่ตั้งขึ้นดังกล่าว หวังเพียงใช้เป็นวิธีประวิงเวลาไประยะหนึ่ง ซึ่งแท้จริงเป็น “การคุ้มครอง” ตำรวจบ่อนที่ส่งส่วยให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ อยู่ทุกเดือน

และเมื่อผู้คนลืมเลือน ก็ได้มีการสั่งให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมกันเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีใครถูกลงโทษทัณฑ์แม้แต่ทางวินัยอะไรเลยดังที่กล่าวไว้!

ในการแก้ปัญหาแหล่งอบายมุขทุกประเภทที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมากมาย โดยไม่สอดคล้องกับสถิติคดีที่ถูกบันทึกไว้ในแต่ละสถานีนั้น

นอกจาก ความจริงจังและจริงใจ ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจ ที่ “นายกรัฐมนตรี” กำลังดำเนินการในกรณีปัญหา ตู้ม้า และ บ่อนในพื้นที่ตำรวจภาค ๒ แล้ว

การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนและโยกย้ายข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกคนในจังหวัดตามที่หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเสนอได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาตำรวจ ต้องเร่งปฏิรูป กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ ชัดเจนและเป็นธรรมกับตำรวจส่วนใหญ่ ให้แต่ละคนเจริญเติบโตได้ในจังหวัด สายงาน ความอาวุโส รวมทั้งคะแนนการประเมินผลจากประชาชน ตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับมีชัย ที่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไว้

ก็จะทำให้ตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่เกิดความ “กล้าหาญ”ต่อการรักษากฎหมายในจังหวัดขึ้นอย่างมาก

เพราะแต่ละคน ไม่ต้องมองหน้า หรือ เป็นหนี้บุญคุณใคร หรือวิ่งเต้นหาเส้นสาย รวมทั้ง “ใช้เงิน” จากพ่อแม่ แม้กระทั่งของนายบ่อน เข้าสู่ตำแหน่งเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

นอกจากนั้น การสอบสวนคดีอาญาสำคัญ เช่น คดีฆ่าคนตาย คดีที่สงสัยว่ามีตำรวจผู้ใหญ่ร่วมกระทำผิด หรือประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ ตำรวจไม่ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย

ต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรืออัยการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนทั้งหมด

รวมทั้งความผิดตามกฎหมายสถานบริการ การพนัน ซึ่งปัจจุบันในส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็เป็นนายทะเบียนตามกฎหมายเหล่านี้อยู่แล้ว และมีอำนาจตรวจจับได้หากตำรวจไม่ดำเนินการ

แต่ที่นายบ่อน เจ้าของสถานบันเทิงผิดกฎหมายไม่เกรงกลัวก็เพราะรู้ว่า ผู้ว่าฯ และนายอำเภอไม่มีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจะทำให้สืบสาวไปถึงตัวการหรือยึดทรัพย์คนใด

ปัญหานี้แก้ได้ง่ายๆ ด้วย อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยการ “ออกกฎกระทรวง” เพิ่มเติม

ให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนความผิด พ.ร.บ.การพนัน และ พ.ร.บ.สถานบริการ

เมื่อจับแล้วก็จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานโยงไปถึงตัวการและผู้สนับสนุนทั้ง “นอกและในเครื่องแบบ” ทุกคนได้.

สถานบันเทิงผิดกฎหมาย
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2564

About The Author