วงเสวนาชำแหละ!ตำรวจจัดให้มีบ่อนพนันต้นตอการระบาดโควิดจี้ดันร่างกม.ปฏิรูปฉบับมีชัย

 

ที่โรงแรมทีเค พาเลส (แจ้งวัฒนะ) วันที่ 7 ม.ค. 2564 มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนา เรื่อง “หยุดบ่อน (พนัน) ทำลายเศรษฐกิจ ทำร้ายสังคม” โดยมี นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมเสวนา

 

นายธนากร กล่าวว่า ปัญหาบ่อนการพนันมีองค์ประกอบอยู่ 3 ฝ่ายเป็นอย่างน้อย 1.ผู้ประกอบการหรือเจ้าของบ่อน 2. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และ 3. ฝั่งผู้เล่น ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันพบจำนวนผู้เล่นการพนันในบ่อนในช่วงปกติประมาณ 5 ล้านคน ถ้าสมมติในการระบาดโควิดแล้วมีนักพนันกลัวและเหลือผู้ที่ยังคงเล่นอยู่เพียง 10% ก็จะมีนักพนันถึง 5 แสนคนที่ไปเล่นทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงเสียเงิน เสี่ยงถูกจับ และเสี่ยงรับเชื้อโควิดฯ และแพร่ต่อได้อีกมหาศาล อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูว่าอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้ยังดิ้นรนไปเสี่ยงกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีข้อมูลที่สอบถามมายังกล่องข้อความของของมูลนิธิฯ ว่าตัวเขาติดพนัน และอยากเลิกเล่น ดังนั้นต้องมาดูว่าการที่คนดิ้นรนออกไปเล่นการพนันทั้งที่มีความเสี่ยงมากมาย เป็นเพราะมีปัญหาเสพติดการพนันหรือไม่ ซึ่งถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการบำบัดเช่นกัน

 

“อีกแง่หนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายห้ามเล่นการพนันอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะออกมาตั้งแต่ปี 2478 แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎหมายดังกล่าวยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติ มีกลไกการทำงานที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยเพิ่มมิติเรื่องของสุขภาพ การบำบัดรักษาผู้ติดการพนันเข้าไปด้วย โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมมือกัน และอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด ) ขึ้นมาดูแลเหมือนเรื่องเหล้า บุหรี่ ผนวกกับการปฏิรูปตำรวจเชื่อว่าปัญหาการพนันผิดกฎหมายจะลดลง”

 

นายธนากร  กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเปิดบ่อนถูกกฎหมายนั้น ก่อนหน้านี้  สหรัฐอเมริกามีการศึกษาต้นทุนผลกระทบจากการเล่นการพนันพบว่าต้นทุนผลกระทบต่อคนอยู่ที่ราวๆ 9 แสนบาท และแตกต่างจากรายได้การกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงหลักพันล้านบาท ดังนั้นตัวเลขของอเมริกาก็ชี้ให้เห็นว่าอาจจะไม่ได้คุ้มค่าเลยได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็จริงแต่มีความเสียหายที่มองไม่เห็นอีกมากมาย

 

รศ.นวลน้อย กล่าวว่า จากการสำรวจการเล่นการพนันของคนไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ พบว่ามีการเล่นการพนันในทุกจังหวัด แต่จากข้อมูลพบว่ามีผู้มีหนี้สินจากการพนันราวๆ 1 ล้านคน มูลค่าหนี้สินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดสะท้อนว่าปัญหาบ่อนการพนันในไทยมีมานาน ซึ่งการแก้ปัญหามีบางคนบอกว่าให้ทำเป็นบ่อนถูกกฎหมาย แต่เรื่องนี้ต้องมองหลายมิติ ซึ่งตนมองว่ามีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.รูปแบบบ่อนการพนันคนจะมองภาพคือบ่อนเป็นที่รวมศูนย์ความบันเทิงต่างๆ ซึ่งจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นในบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนคนในพื้นที่อื่นๆ ก็ลักลอบเล่นแบบผิดกฎหมายเหมือนเดิม 2. การวางกรอบกติกาในการบริหารจัดการ การควบคุมผลกระทบของการพนัน และต้องบังคับใช้กติกาอย่างเข้มแข็ง ชัดเจน และ 3.การปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นบ่อเกิดของ การเกิดธุรกิจสีเทาขึ้นในประเทศไทย

 

ด้านพ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ มีรากเหง้ามาจากเรื่องธุรกิจผิดกฎหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวหนีเข้าเมือง และบ่อนการพนัน ซึ่งเชื่อว่าปัญหาที่ผุดขึ้นมาวันนี้ยังไม่หมด ตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่ก็รู้ แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะรู้ดีว่าล้วนมีตำรวจผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น พอมีเรื่องแล้วก็สั่งให้ตำรวจผู้รับผิดชอบไปช่วยราชการสักพักหนึ่ง แท้จริงเป็น “พฤติกรรมการคุ้มครอง” ด้วยซ้ำ เพราะเมื่่อเวลาผ่านไปไม่นาน สื่อและสังคมลืม ตำรวจพวกนี้ก็กลับไปอยู่ที่เดิมหรือย้ายไปที่อื่น ไม่มีใครถูกดำเนินคดีอาญาหรือวินัยแม้แต่คนเดียว ถ้าเป็นการลงโทษจริง ต้องเริ่มด้วยการ “สั่งสำรองราชการ” ทั้ง ผกก. ผบก.และ ผบช. รับรองว่า แค่พรุ่งนี้ ก็สงบหมดทั้งประเทศ

 

“เมื่อวันนี้กฎหมายบอกว่าการเล่นการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้รักษากฎหมายก็ต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่าตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ การบอกว่าการกระทำผิดที่แล้วมาก็ให้แล้วไป ข้างหน้าอย่าให้มีอีก ไม่ถูกต้อง เป็นภาวะจำนน และตำรวจมีหน้าที่ดำเนินการกับเรื่องที่เกิดในอดีตทั้งสิ้น การไม่ลงโทษคนชั่ว เป็นการทำร้ายจิตใจคนดี และต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว ในระบบตำรวจนั้นตำรวจดีถูกทำร้ายจิตใจอยู่ตลอดเวลา เช่นสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้บังคับบัญชาไม่ใช่ว่าจะชอบ ไม่มีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะมีการแต่งตั้งที่เปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย แม้กระทั่งการใช้เงิน ร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เปลี่ยนระบบการแต่งตั้งโยกย้ายให้ยึดหลักอาวุโส และคะแนนประเมินจากประชาชน ถือว่าใช้ได้ เป็นการปฏิรูปภายในองค์กรได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ขอให้ประชาชนร่วมกันผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสภา และต่อต้าน “ฉบับแปลงสาร” ที่ตำรวจผู้ใหญ่จัดทำขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

ส่วนนายคำนูญ กล่าวว่า การเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่ก็มีอยู่ในสังคมไทยมานาน พูดกันจนเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามไม่ต้องพูดถึงการทำบ่อนถูกกฎหมายอะไร เอาแค่วันนี้ กฎหมายบอกว่าห้ามเล่นการพนัน ตำรวจก็ต้องยึดตามหลักการนี้และบังคับใช้กฎหมายตามนี้ ส่วนอนาคตจะมีการหารือว่าจะต้องปรับแก้กฎหมายหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างก็ตาม วันนี้บ่อนเป็นปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สิ่งที่รู้คือยังมีการรับส่วยเปิดบ่อน แล้วจะปล่อยให้เป็นแบบนี้อย่างนั้นหรือ ทั้งนี้จากการติดตามเรื่องการปฏิรูปตำรวจ พบว่าปัญหามีการผูกโยงกับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีต้นทุนจากการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง ลำพังเงินเดือน สวัสดิการคงไม่พอที่กับการลงทุนตรงนี้ จึงต้องการไปอยู่ในพื้นที่ทอง หรือพื้นที่ที่มีธุรกิจสีเทามาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาจนมีการบรรจุในรัฐธรรมนูญว่าต้องเร่งปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี แต่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ

 

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจชุดนายมีชัย ได้แก้ไขให้การแต่งตั้งโยกย้ายตามหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นกำลังใจให้ตำรวจทำงานรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงเพราะประชาชนจะเป็นผู้ให้คะแนน แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการขอแก้ไข อย่างไรก็ตามตนอยากให้มีการใช้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตามความรู้ ความสามารถ สัก 5 รอบการแต่งตั้งโยกย้าย จึงขอเรียกร้องนายกฯ และครม.ผลักดันร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แม้จะแก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังช่วยให้ผู้รักษากฎหมาย ดำเนินการรักษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคนที่อยากจะเป็นคนดี เป็นตำรวจที่ดีสามารถทำได้จริง

 

About The Author