มาตรา 112 ต้องคงไว้ แต่จะควบคุมอย่างไร ไม่ให้ตำรวจใช้แจ้งข้อหาใครกันแบบมั่วๆ

ยุติธรรมวิวัฒน์

มาตรา 112 ต้องคงไว้ แต่จะควบคุมอย่างไร ไม่ให้ตำรวจใช้แจ้งข้อหาใครกันแบบมั่วๆ

 

                                                           พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                เรื่องราวของตำรวจในเวลานี้ ถ้าเป็นผู้มีตำแหน่งรองผู้กำกับไปจนถึงรองสารวัตร คงไม่มีอะไร อยู่ในหัวสมอง ของแต่ละคนแทบทุกลมหายใจไปจนกระทั่งลูกเมียเท่าเรื่อง การแต่งตั้งโยกย้าย!

คำสั่งนี้วิ่งใคร สายไหน? ได้ ตั๋ว ชัวร์หรือยัง จ่าย ตังค์ ไปมากใหม เท่าไร? สุดท้ายได้ที่ใด?

ได้ข่าวว่า ตำแหน่งสารวัตรปีนี้ แพงมาก จับไม่ลงนะ!

ใครไม่มี “ตั๋ว” หรือ “ตังค์” ให้นั่งรอเข้าคิวอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ เป็นคำพูดที่ชินหูในหมู่ตำรวจผู้ไร้เส้นสายและไม่อยู่ใน เครือข่ายอุปถัมภ์ ทุกระดับทุกคนมานาน กว่าสามสิบปี

ตำรวจ เป็นองค์กรกระบวนการยุติธรรมองค์กรเดียว ที่ อาวุโสไม่โอเค! ต่างไปจากศาลและอัยการอย่างสิ้นเชิง

คนทำงานในสายงานและพื้นที่จังหวัดมานานแค่ไหนและไม่มีอะไรบกพร่อง ก็ไม่ถือว่า เป็นผู้มีความสามารถมากกว่า ในการที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นก่อนคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานและจังหวัดนั้นแต่อย่างใด?

การแต่งตั้งตำรวจที่ สุดวิปริต เช่นนี้ จึงทำให้มีพวก ผู้นำหมาหลง! เกิดขึ้นมากมายหลายระดับ

ญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องจัดเลี้ยงฉลองแห่แหนพากันไปรับตำแหน่งแล้ว ก็นั่งงง! ไม่รู้ว่าถนนหนทางและซอยอะไรไปทางไหน ขับรถไปธุระตามลำพังไม่ได้!

นอกจากไม่รู้จักประชาชนและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้ว  ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักประวัติและนิสัยใจคอของตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานีแม้แต่คนเดียว!

แต่ผู้บังคับบัญชาอ้างว่า เป็นผู้ มีความรู้ความสามารถในการรักษากฎหมาย ได้ดีกว่าผู้อาวุโสซึ่งอยู่ในจังหวัดนั้นมานานนับสิบปี ทั้งที่หลายคนตนไม่เคยรู้จักหรือแม้กระทั่งเห็นหน้ามาก่อนเลยด้วยซ้ำ!

หวยเถื่อน บ่อนการพนันผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข ผู้ประกอบการรถบรรทุกและแรงงานต่างด้าว คือสิ่งแรกที่ทุกคนจ้องมองและถามหา เรียก ตำรวจหัวเบี้ยแต่ละสาย ไปเช็กยอดว่าแต่ละเดือนเก็บรวมได้เท่าใด จัดแบ่งกันอย่างไร? จะทำเพิ่มได้อีกหรือไม่? เพราะต้องรีบทำให้คุ้มการลงทุนและ ค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ สารพัด!

ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจที่วิปริตและนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบหลายรูปแบบมากมาย ทำลายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของชาติลงอย่างย่อยยับตลอดมานี้!

ก็ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านรู้และตระหนักหรือไม่?

และเมื่อรู้แล้ว เหตุใดจึงไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปฏิรูปตามที่ท่านได้เคยพูดหรือสั่งไว้ในหลายวาระและหลายที่ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นหลายชุดมากมายจนประชาชนจดจำกันไม่หวาดไหว?               

ช่วงนี้มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112  คือ ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ขั้นต่ำสามปีและสูงถึงสิบห้าปี

มีนักวิชาการและผู้คนบางกลุ่มเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรานี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า แต่ละคนมี เหตุผลและตรรกะอะไร?

ต้องการแก้ไขให้เป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปที่ถือว่าไม่ใช่ความผิดต่อรัฐหรืออย่างไร?

ในการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทนั้น กฎหมายอาญาได้กำหนดโทษลดหลั่นกันไว้ตามสถานะและบทบาทในทางราชการของแต่ละบุคคล

เช่น ในกรณี ดูหมิ่นศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี ก็มีความผิดตามมาตรา 198 มีโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งถึงเจ็ดปี

ถ้า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ก็มีความผิดตามมาตรา 136 มีโทษจำคุกถึงหนึ่งปี

ถ้าดูหมิ่นบุคคลทั่วไป ก็กำหนดให้เป็นลหุโทษตามมาตรา 393 จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน แต่ถ้าหมิ่นประมาท ก็ผิดมาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และเป็นความผิดอันยอมความกันได้

สำหรับมาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คือในปี พ.ศ.2499  อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ถ้าใครไม่ได้แสดงพฤติกรรมดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์หรือบุคคลผู้มีสถานะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ก็ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดอาญาที่ต้องถูกตำรวจจับตัวหรือแจ้งข้อหาดำเนินคดีอะไร

แต่ปัญหาได้เกิดขึ้นในช่วง ประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา นี้ เนื่องจากได้มีปรากฏการณ์การวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการเกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางเปิดเผยตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น

การแสดงความคิดเชิงวิชาการในหลายกรณีได้ถูกผู้มีอำนาจและตำรวจตีความว่า เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย?

เริ่มจากการที่มี ขาประจำ บางคนไปแจ้งความกล่าวหา ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาก็ถูกตำรวจเสนอศาลออกหมายจับตัวไปดำเนินคดี

ซึ่งหลายคดีอัยการก็ได้สั่งฟ้องไป ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ กันในชั้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังของไทย!

ก่อให้เกิดความเดือดร้อนคับแค้นใจต่อผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาและรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

เพราะในข้อเท็จจริงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นด้วยความสุจริต ไม่ได้มีเถยจิต หรือเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลแต่อย่างใด

แต่ การใช้ กฎหมายมาตรานี้ของตำรวจอย่างมั่วๆ  ด้วย ความกลัวจนลนลาน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีคนอ้างว่ารักสถาบันมากกว่าใครไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนนั้นคนนี้

ตำรวจผู้ใหญ่และพนักงานสอบสวนก็มักจะเกิดอาการ ลุกลี้ลุกลน ไปตามๆ กัน

บางคนได้ถูกผู้บังคับบัญชาผู้เป็น “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” สั่งด้วยวาจา ให้เร่งดำเนินการรีบไปเสนอศาลออกหมายจับบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้นทันที

เป็นที่มาซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่า กฎหมายอาญามาตรานี้ได้ถูกตำรวจใช้กันอย่างไม่เป็นธรรมตลอดมา จึงน่าจะยกเลิก ไม่กำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป

ส่วนผู้คนอีกฝ่ายก็บอกว่า สถาบันเป็นสิ่งที่ใครจะละเมิดมิได้ ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาอย่างยาวนาน

การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าในแง่มุมใด ก็ไม่มีใครมีสิทธิกระทำทั้งสิ้น!

ถือเป็นความคิดที่ถือว่าสุดโต่งและ ไร้ตรรกะพอกันทั้งสองฝ่าย

ปัญหาของมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องการถูกกำหนดให้เป็นความผิดเอาไว้

หากแต่เกิดจาก การบังคับใช้ ของตำรวจที่กระทำไปด้วย ความกลัว จะถูกหาว่าละเว้นหรือไม่เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่กรณีที่มีผู้แจ้งความกล่าวหาว่ามีการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ รัชทายาทหรือแม้กระทั่งบุคคลที่อาจไม่ได้อยู่ในคำนิยามตามกฎหมาย

ทางแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่วิธีเรียกร้องให้ยกเลิกแต่อย่างใด

การมีกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐไม่ให้ใครดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท โดยกำหนดโทษสูงไว้ในอัตราหนึ่งซึ่งแตกต่างจากการกระทำต่อบุคคลทั่วไป เป็นเรื่องที่จำเป็นในทุกสังคม

ส่วนอัตราโทษจำคุกถึงสิบห้าปี ถ้ามีใครคิดว่าสูงเกินไป ก็สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษให้น้อยลงได้

แต่ปัญหาสำคัญก็คือ จะควบคุมการใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างไรเพื่อไม่ให้บุคคลใดหรือตำรวจสามารถใช้เป็นเครื่องมือ กล่าวหาใครแบบมั่วๆ และเสนอศาลออกหมายจับกันง่ายๆ ได้อย่างไร?

เพราะสุดท้าย หลายคดีแม้จะไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 112 แต่ ตำรวจก็ได้สรุปเสนอให้อัยการสั่งฟ้องไป

ซึ่งบางคดีอัยการก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง

แต่บางคดีที่หลับหูหลับตาฟ้องไป ศาลก็ได้พิพากษายกฟ้อง!

หนทางแก้ปัญหานี้ก็คือ ควร แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ให้การแจ้งข้อหามาตรา 112 ต้องได้รับการตรวจสอบพยานหลักฐานและเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อนทุกกรณี

โดยอัยการจะเห็นชอบได้ก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น.

มาตรา112
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 2563

About The Author