เซตซีโร่ด่านตร.!’ผบช.ก.’ให้ออกใบสั่งไปจ่ายค่าปรับห่างจากด่าน2กม.กันครหา

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) วันที่ 9พ.ย.2563 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก.กล่าวภายหลังหารือการทำงานในรอบสัปดาห์กับ รอง ผบช.ก. และ ผบก.ในสังกัด ว่า ขณะนี้จุดอ่อนของตำรวจ บช.ก.คือตำรวจทางหลวง เพราะต้องตั้งด่านและสัมผัสประชาชนทำให้ชาวบ้าน ไม่พอใจ มีการเขียนใบสั่งหน้าตู้บริการ หรือจุดบริการทางหลวง ต่างกับหน่วยงานอื่นๆ ที่สร้างผลงานการจับกุมช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เป็นจุดแข็งเพราะออกไปช่วยเหลือ พี่น้องประชาชน จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับตำรวจทางหลวง ที่ผ่านมาตนได้เรียก พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) คนใหม่ ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเข้ามาเพื่อให้ไปคิดหาหนทางแก้ไข
“เบื้องต้นให้ไปแก้ไขจุดบริการทางหลวง หรือจุดที่ตั้งด่าน ต้องไม่มีการปรับเงินสดอีกต่อไป เพื่อไม่ให้มีการยัดเงินให้ตำรวจ แต่ให้ออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ปรับที่บริเวณนั้น เพราะเสี่ยงต่อการเรียกรับเงินหรือเป็นเหยื่อในสื่อโซเชียลมีเดียที่อาจจะมีการถ่ายคลิปแล้วไปอ้างว่าตำรวจเรียกรับเงิน จากนี้ไปจุดออกใบสั่งกับจุดปรับจะอยู่ห่างกันออกไปราว 2 กิโลเมตร โดยให้ตั้งเขตถนนให้ชัดเจน มีกรวยชัดเจน แล้วจุดตั้งนั้นก็จะเป็นจุดปรับที่เราจัดตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 3 ตัว” ผบช.ก. กล่าว
พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อชาวบ้านที่ถือใบสั่งเข้ามาก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบประวัติตามระบบหมายจับ จากนั้นให้ตำรวจอธิบายข้อหาที่กระทำความผิด เช่น ขับรถเร็ว เปลี่ยนช่องทาง ฝ่าฝืนเครื่องหมาย หรือข้อหาอื่นๆ จากนั้นหากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกก็ให้ว่ากล่าวตักเตือน พร้อมกับเก็บเรคคอร์ดข้อมูลไว้ โดยยังไม่ปรับ แต่หากพบว่าเป็นการผิดซ้ำครั้งที่ 2 ถึงจะดำเนินการจับกุม ขณะนี้ ผบก.ทล.กำลังไปคิดรายละเอียดและวิธีการที่ประชาชนจะได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด โดยข้อมูลที่บันทึกไว้ก็จะออนไลน์ทั่วประเทศเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในการขับขี่ของผู้กระทำความผิดได้ด้วย จะเน้นว่ากล่าวตักเตือนหากทำผิดครั้งแรก ไม่ใช่ตั้งใจจะเอาค่าปรับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า นี่คือการแก้ไขปัญหา คือการเซตซีโร่ของการตั้งด่านของตำรวจทางหลวง โดยพื้นที่บริเวณที่เสียค่าปรับนอกจากจะมีตำรวจที่แต่งเครื่องแบบแล้ว จะให้นำนักศึกษาฝึกงานเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย ไม่ใช่ให้นักศึกษาฝึกงานไปทำงานอื่น เช่น ชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร แต่ต้องได้ทำงานจริง และให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในส่วนบริการตรงนี้ด้วย เพราะนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้จะสามารถรับอารมณ์จากชาวบ้านได้ดีกว่า ที่สำคัญพวกเขาคือกระบอกเสียงของตำรวจในวันข้างหน้า คือให้เขามีความรู้สึกว่าอาชีพตำรวจวันวันหนึ่ง เขาต้องรับกับอะไรบ้าง จะได้ซึมซับความรู้สึกของตำรวจด้วย
“ผมย้ำให้ไปพิจารณาจุดตั้งด่านใหม่ด้วย ให้คำนึกถึงองค์ประกอบของจุดที่จำเป็นต้องตั้งด่าน ไม่ใช่ตั้งไปมั่วๆ แต่ต้องอธิบายได้ เช่น ตั้งตรงจุดที่มันเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด ที่อันตรายที่สุด หรือเขตโรงเรียน เพื่อให้คนได้ชะลอความเร็ว เป็นต้น” ผบช.ก.กล่าว