พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้!
พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สังคมไทยในปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ แม้กระทั่ง “ความยุติธรรม” ระหว่างคนรวยกับคนจน รวมทั้งผู้คนที่เป็น ฝ่ายไร้อำนาจรัฐ อย่างมากนั้น
ใครอยู่ในกลุ่มที่ สุขสบายหรือเป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคม ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าผูกขาด หรือ แก๊งทรชน ที่แอบอิงหากินกับผู้มีอำนาจ รวมทั้ง ข้าราชการทหารตำรวจผู้ใหญ่ที่ฉ้อฉลทั้งในอดีตและปัจจุบันโดยเฉพาะพวกที่มียศชั้นนายพล
ก็มักมองว่า สังคมไทยที่เป็นเช่นทุกวันนี้มีความสงบสุขดีอยู่แล้ว!
ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรตามเสียงเรียกร้องของประชาชนหรือใครแต่อย่างใด?
ในขณะที่ผู้คนซึ่งเป็นเกษตรกรชาวนาชาวไร่และผู้ใช้แรงงานซึ่งยากจน หรือแม้กระทั่งคนชั้นกลางวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ล้วนต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการปกครองของประเทศเพื่อให้อยู่ดีกินดีและมีความยุติธรรมขึ้นในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา!
ซึ่งการแสดงออก นอกจากใช้วิธีระบายผ่านสื่อออนไลน์หลายรูปแบบตามที่เทคโนโลยียุคใหม่เปิดโอกาสให้ทำได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว
การชุมนุมรวมตัวกันของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนและนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากเรียกร้อง ให้นายกรัฐมนตรี “ลาออก” ด้วยเหตุผลว่า ไม่ได้มีที่มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
รวมทั้งได้เคยพูดอะไรกับประชาชนแล้ว กลับ “ไม่ทำตามสัญญา” หรือมีปัญหาในการทำงานบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ ในเรื่องอะไร
ก็ ถือเป็นสิทธิของประชาชน ที่สามารถแสดงออกได้ตามที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้
ส่วนนายกฯ จะรับรู้และรู้สึกหรือไม่รู้สึกอะไรจะคิดเรื่องการลาออกหรือไม่ โดยได้แต่ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร และได้เป็นนายกฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากได้รับการเลือกจาก ส.ส.และ ส.ว. อย่างท่วมท้น? ก็เป็นสิทธิของท่านเช่นกัน!
เรื่องการชุมนุมของประชาชนซึ่ง ถือเป็นสิทธิสากลเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกนั้น แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ซึ่งจัดทำขึ้นหลังการยึดอำนาจ ก็ยังคงสิทธิของประชาชนดังกล่าวไว้ใน มาตรา 44 ว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ”
แต่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนคนไทยที่ มีมาช้านาน หลังสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ.2475 ดังกล่าว กลับ สะดุดหยุดลง ด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่เป็น ผลงานอันน่าภูมิใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการทำรัฐประหาร
ซึ่งสมาชิกจำนวนมากประกอบไปด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจผู้ใหญ่ ทั้งในอดีตและขณะนั้นที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 คัดเลือกจำนวน 220 คน
ให้ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติระหว่างที่ยังไม่มีตัวแทนประชาชนผู้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญด้วยเงื่อนไขในวรรคสองของมาตรา 44 ว่า เพื่อการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
ซึ่ง สนช.ได้ช่วยกันผลักดันอย่างขมีขมันจนออกเป็นกฎหมายได้ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2558
ส่งผลทำให้การชุมนุมของประชาชนไม่ว่าใครจะได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมในเรื่องอะไรทุกพื้นที่ทั่วไทย เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ง่ายๆ โดยไม่ผิดกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นเดิมอีกต่อไป
เนื่องจากได้มีการกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้าต่อรัฐและปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่กำหนดต่างๆ สารพัด
ในทางปฏิบัติ จึงอาจกล่าวได้ว่า สิทธิในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ให้หายไปด้วยกฎหมายลำดับรองที่ออกในยุคเผด็จการช่วงนี้
เริ่มตั้งแต่มาตรา 10 ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
โดยให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ เครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกทุกคนเป็นผู้จัดชุมนุมตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายในทุกกรณีที่มีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่หัวหน้าสถานีตำรวจเห็นว่า การชุมนุม อาจขัดต่อมาตรา 7 (เกิดความไม่สงบ) หรือ 8 (อยู่ในพื้นที่ห้าม) ก็สามารถมีคำสั่งให้แก้ไขในเวลากำหนดได้
หากไม่ปฏิบัติตามก็มีอำนาจสั่งห้ามชุมนุมโดยแจ้งเป็นหนังสือไปให้ทราบ
กรณีผู้แจ้งไม่เห็นชอบกับคำสั่ง สามารถอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือผู้รับแจ้งขึ้นไปหนึ่งชั้น และให้แจ้งคำวินิจฉัยภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงและ ถือเป็นที่สุด
แต่ ระหว่างอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุม!
ส่งผลทำให้ผู้คนผู้มาชุมนุมซึ่งหลายกรณีอาจนับหมื่นหรือนับแสนคนที่แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันอย่างได้อารมณ์ กลายเป็นผิดกฎหมายและอาจเกิดความไม่สงบวุ่นวายขึ้นทันที!
การชุมนุมฯ ที่ไม่เป็นไปตามที่มาตรา 6 (ไม่สงบ) หรือไม่แจ้งล่วงหน้าตามมาตรา 10 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามตามมาตรา 11 ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่มิชอบตามมาตรา 14 รวมทั้งการชุมนุมหรือ เคลื่อนย้ายโดยไม่แจ้งหรือไม่เลิกตามเวลา ตามมาตรา 17 และ 18 มีโทษปรับถึง หนึ่งหมื่นบาท ตามมาตรา 28
ส่วนผู้จัดการชุมนุมหลังมีคำสั่งห้าม มีโทษ จำคุกถึงหกเดือนตามมาตรา 29
จะเห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะซึ่งออกโดย สนช.ในช่วงรัฐบาลเผด็จการฉบับนี้ ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการจำกัดสิทธิและ สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการชุมนุมของประชาชนในความเป็นจริง ไว้มากมาย
สุจริตชนทั่วไปทั้งหญิงชายที่ใช้สิทธิในการชุมนุมตามกกฎหมายอาจ “กลายเป็นอาชญากรร้าย” ถูกตำรวจใช้น้ำผสมสารเคมีฉีดไล่หรือจับตัวไปคุมขัง ได้แสนง่าย!
โดยเฉพาะทุกคนที่ชักชวนหรือโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หรือด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้เพื่อนฝูงและประชาชนมาชุมนุม ล้วนมีโอกาส ถูกมั่ว ถูกกล่าวหาว่าเป็น ผู้จัดการชุมนุม ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายในกรณีที่เกิดการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานขึ้นทั้งสิ้น
ข้อหามาตรฐาน ก็คือ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจร การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเสียงดังเกินขนาด และแม้กระทั่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ฯลฯ
ส่งผลทำให้หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ฉบับนี้ มีประชาชนและนักเรียน นักศึกษาถูกดำเนินคดีอาญา กลายเป็นผู้ต้องหาถูกออก หมายเรียก หรือเสนอ ศาลออกหมายจับ จากการชุมนุมเรียกร้องประเด็นต่างๆ แทบทุกครั้งกันมากมาย
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 16 มีนาคม 2563 หลังนายกรัฐมนตรีได้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคโควิด-19 โดยยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนนี้แต่อย่างใด ขยายเวลาทุก 30 วัน เป็น ครั้งที่ 7
ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลที่เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ หลายคนซึ่งคุ้นเคยกับการ สั่งราชการด้วยวาจา ให้ดำเนินคดีอาญากับประชาชนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมทุกคนตามนโยบายของรัฐบาล
คง ไม่ได้อ่านกฎหมายให้ครบทุกบรรทัดทุกหน้า ว่า
ใน มาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้กำหนดไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลว่า เป็นช่วงเวลาที่รัฐสามารถออกข้อห้ามประชาชนทำอะไรที่เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายได้มากมายอยู่แล้ว
แต่ในเมื่อกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจนเช่นนี้ การที่ตำรวจได้ดำเนินคดีอาญากับประชาชนจำนวนมากโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดหรือร่วมชุมนุมในแต่ละเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ที่อ้างว่าฝ่าฝืนกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือว่า เสนอศาลออกหมายจับ และหลายคดีกำลังจะสรุปเสนอให้อัยการ “สั่งฟ้อง”
จึงเป็นการแจ้งข้อหาที่ไม่สอดคล้องและชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 9 พ.ย. 2563