การปฏิรูประบบสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล

การปฏิรูประบบสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล

ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง

หัวใจสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาคือ “การทำความจริงให้ปรากฏ” ดังนั้น ปรัชญาพื้นฐานในคดีอาญาทั้งระบบไต่สวนและระบบกล่าวหาคือหลักการ ค้นหาความจริง โดยระบบไต่สวนรัฐมีภาระหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อค้นหาความจริงแบบไม่มีการต่อสู้คดีระหว่างโจทก์และจำเลย ส่วนระบบกล่าวหานั้น เป็นการค้นหาความจริงโดยผ่านการต่อสู้คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ต่างฝ่ายต่างมีภาระการนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างข้อเถียงของตน

การสืบสวนสอบสวนเป็นกระบวนการค้นหาความจริงของรัฐ ทั้งเพื่อการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมและการปราบปรามเมื่อเกิดอาชญากรรมหรือการกระทำผิดแล้ว การสอบสวนคดีเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเมื่อเกิดการกระทำความผิดเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งคดีโดยพนักงานสอบสวนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานอัยการในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อให้พนักงานอัยการในฐานะผู้ดำเนินคดีแทนรัฐได้รับพยานหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนในการอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ชั้นการพิจารณาสั่งคดีและนำพยานหลักฐานนั้นไปสู่การพิจารณาคดีพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยให้ปราศจากข้อสงสัยในชั้นศาลเพื่อได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษ ดังนั้นขั้นตอนสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมในชั้นสอบสวนคือจะทำอย่างไรให้พนักงานอัยการได้รับพยานหลักฐานที่สมบูรณถูกต้องแท้จริงเพื่อนำ “ความจริง” ไปสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล

การสืบสวนสอบสวนเป็นกระบวนการชั้นต้นในการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติเพื่อจำกัดขอบเขตและกำหนดขั้นตอนเพื่อควบคุมตรวจสอบวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทั้งจากสายการบังคับบัญชาภายในหน่วยงานเองและจากหน่วยงานภายนอกเพื่อป้องกันผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่รับผลประโยชน์และช่วยปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยกำหนดขั้นตอนต่างๆไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บางคนกล่าวที่ว่า “ระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความของไทย ย่อมมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยแล้วไม่จำเป็นจะต้องปรับปรุงกฎหมายให้ได้ตามระดับมาตรฐานสากล” นับว่าเป็นความคลาดเคลื่อนและขาดความเข้าใจในปรัชญาและหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายสารบัญญัติทางอาญาและกฎหมายวิธีสบัญญัติ กล่าวคือ

กฎหมายสารบัญญัติทางอาญาเป็นเรื่องของการตรากฎหมายเพื่อกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดและมีโทษในทางอาญา(Criminalization) เช่น กัญชา การพนัน การค้าประเวณีฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสอดคล้องกับศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและการปกครองของแต่ละท้องถิ่นที่มีการตราและบังคับใช้กฎหมายนั้น

ส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติ เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจับ การแจ้งข้อหา การค้น การขัง การดำเนินคดี การสืบพยาน การพิจารณาพิพากษาฯ ซึ่งอาจละเมิดและกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและความเป็นอยู่ของประชาชนจึงต้องมีวิธีปฏิบัติที่มีมาตรฐานการควบคุมตรวจสอบในระดับที่สอดคล้องกับมาตรฐานและหลักการสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ในอดีตความด้อยมาตรฐานทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยตามจารีตนครบาล ที่ใช้วิธีการทรมาน บีบขมับ ตอกเล็บฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพในการดำเนินคดี ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และทำให้เกิดปัญหาการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritorial right) โดยที่รัฐไทยต้องให้สิทธิพิเศษทางกฎหมาย ตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)  ให้แก่ประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (1855) โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ โดยประเทศไทยต้องยินยอมให้ประเทศสหราชอาณาจักรสามารถบังคับใช้วิธีการต่างๆตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรต่อบุคคลสัญชาติของตนในศาลของประเทศ สหราชอาณาจักร (ภายในสถานกงสุล) แม้บุคคลนั้นกระทำความผิดที่มีโทษอาญาในดินแดนของประเทศไทย

ก่อนจะมีการวิวัฒนาการเป็นหลักการสากลที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของประเทศสำคัญๆต่างๆนั้น รากฐานแห่งปรัชญาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและแนวความคิดต่างๆที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้ค่อยๆถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องตลอดมาจากนักคิด นักปรัชญาคนสำคัญๆของโลก เช่น Aristotle (384–322 BC) นักปรัชญาคนสำคัญในสมัยกรีก-โรมัน ได้ยืนยันความสำคัญของหลักกฎหมายธรรมชาติในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษยชาติ โดยกล่าวว่า “บุคคลจะมีอิสระหรือเป็นทาสก็แต่โดยกฎหมายกำหนด ในความเป็นมนุษย์แล้วไม่มีความแตกต่างใดๆเลยในลักษณะของมนุษยชาติ”

ในยุคสมัยกรีก-โรมันนี้ยังได้มีวิวัฒนาการของหลักการให้ความเป็นธรรมที่เท่าเทียมกันของบุคคลที่เรียกว่า “หลักฟังความสองฝ่าย” (The audi alteram partem Rule) ที่มีแนวคิดพื้นฐานว่าจะไม่มีใครที่ถูกพิพากษาโดยไม่มีการรับฟังข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานอย่างเป็นธรรมและต้องให้โอกาสในการได้ถามตอบโต้พยานหลักฐานที่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้นั้น แนวความคิดเช่นนี้ต่อมาถูกพัฒนาและใช้ในการพิจารณาคดี เช่น ในปี 1676 Sir Mathew Hale หัวหน้าผู้พิพากษาแห่ง King’s Bench ได้วางหลักการในการให้ความเป็นธรรม 18 ข้อโดยในข้อที่ 6 เป็นหลักการฟังความสองฝ่ายทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ปราศจากอคติและเพื่อการตัดสินที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ครบถ้วน หลักการฟังความสองฝ่ายได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและค่อยๆพัฒนาสู่หลักการสากลต่างๆต่อเนื่องอีกหลายประการ เช่น การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมต่อหน้าจำเลย โดยจำเลยจะต้องมาปรากฏตัวที่ศาลและจะได้โอกาสถามค้านพยานที่ให้การเป็นปฏิปักษ์กับตน เพื่อมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่จำเลยจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและล่ามในการแปลภาษา และปรากฏว่าได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในนานาอารยะประเทศปรากฏตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาก่อตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป The European Court of Human Rights

ดังนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยมาตรา 165 ที่บัญญัติว่า “จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง”และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2532 ; คดีชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยยังมิได้เข้ามาสู่ฐานะเป็นคู่ความ ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงก่อนรับคดีไว้พิจารณาเป็นกรณีฟังความฝ่ายโจทก์เพียงข้างเดียว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยมาตรา 165 จึงขัดต่อปรัชญารากฐานและหลักการสากลและมีความจำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างยิ่ง

Sir Willam Blackstone (1765) กล่าวว่า “การปล่อยคนผิด 10 คนหลบหนีดีกว่าทำให้ผู้บริสุทธิ์ 1 คนต้องเดือดร้อน อาจอธิบายได้ว่าการที่ผู้กระทำผิดหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรมได้วันนี้ พรุ่งนี้ก็สามารถอาจจะจับตัวหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีได้ แต่การเอาทรัพยากรของรัฐไปดำเนินคดีคนบริสุทธิ์ย่อมไม่อาจจะเยียวยาร่างกายและจิตใจ ชื่อเสียงเกียรติยศเขาให้กลับสู่สถานะเดิมได้เลย แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและต่อมาได้วิวัฒนาการต่อเนื่องโดยมีหลักการสากลที่รับรองและสอดคล้องต่อมา เช่น ในยุคสมัยโบราณประเทศต่างๆในยุโรปฝ่ายรัฐมักใช้วิธีการกล่าวหาผู้ที่กระด้างกระเดื่องขัดขืนหรือมีแนวความคิดต่อต้านการปกครองที่กดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลจะใช้เจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งกล่าวหาโดยการทรมานผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่คำพิพากษาลงโทษ วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้บริสุทธิ์มากมายต้องตายหรือถูกลงโทษระหว่างการสอบสวนอย่างเหี้ยมโหด ต่อมาภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ในเอกสารประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองของประเทศฝรั่งเศส ข้อ 9 ได้รับรองว่ามนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิด การจับกุมตัวจะต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงป่าเถื่อน และต่อมาหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้วิธีการป่าเถื่อนบังคับให้รับสารภาพอันจะถือเป็นการลงโทษก่อนการพิสูจน์ความผิด ก็ได้รับการรับรองในองค์การสหประชาชาติทั้งใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หลักการนี้นำไปสู่หลักการในเรื่องภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) ที่ฝ่ายกล่าวหาจะมีภาระการนำพยานหลักฐานต่างๆเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้สิ้นสงสัย

การป้องกันมิให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนเจ็บปวดจากการดำเนินคดีตามแนวทางของ Sir Willam Blackstone นี้ทำให้เกิดหลักการดำเนินคดีต่อบุคคลใดจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบและยากยิ่งขึ้น นานาประเทศจึงใช้หลักการดำเนินคดีโดยรัฐเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลได้ ไม่ยอมให้บุคคลแกล้งร้องฟ้องกันอันจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคม การฟ้องคดีโดยรัฐก็จะได้รับการกลั่นกรองมากขึ้นประกอบกับการนำหลักการแนวคิดระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ประเทศสหรัฐอเมริกาอัยการการจะฟ้องบุคคลใดได้ต้องผ่านการอนุมัติจาก Grand Jury 23 คนที่มาจากการคัดเลือกจากประชาชนเท่านั้น เป็นต้น

การสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดสอดคล้องกับหลักการสากลว่าบุคคลย่อมไม่ถูกดำเนินคดีในการกระทำใดถึงสองครั้ง (Ne bis in idem หรือ Double jeopardy) หลักการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามอำเภอใจอย่างไร้ขอบเขต การดำเนินคดีกับผู้ใดจะต้องมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแน่นหนาเพียงพอที่จะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษเท่านั้น ในประเทศสหราชอาณาจักร การที่พนักงานอัยการจะสั่งฟ้องดำเนินคดีผู้ใดจะต้องผ่าการพิจารณาสองประเด็นสำคัญคือ 1. จะต้องมีพยานหลักฐานแน่นหนาที่จะยืนยันพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ และ 2. การดำเนินคดีดังกล่าวจะต้องปรากกว่าเป็นการดำเนินคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย หากแม้นมีพยานหลักฐานแน่นหนาที่จะดำเนินคดีจำเลยได้แต่หากมีข้อเท็จจริงว่าการฟ้องดำเนินคดีดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อสาธารณะหรือเกิดผลร้ายยิ่งกว่า พนักงานอัยการจะไม่ดำเนินคดีต่อไปก็ได้

อัยการในฐานะตัวแทนรัฐจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานอย่างละเอียดและสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจนสิ้นสงสัย(Beyond Reasonable Doubts) ว่าผู้ที่ตนจะดำเนินคดีเป็นผู้กระทำความผิดอย่างแท้จริงและมีพยานหลักฐานมั่นคงพอที่จะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษ หากพยานหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอที่จะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษแล้วอัยการจะต้องไม่ดำเนินคดีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาร้ายแรงเพียงใดก็ตาม การจะสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพอัยการจะต้องรับทราบข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างครบถ้วนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุอาชญากรรมโดยไม่ถูกปกปิดบิดเบือนเท่านั้น นานาประเทศจึงบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรายงานเหตุอาชญากรรมต่อสำนักงานอัยการในท้องที่เกิดเหตุด้วยทันที ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่จะต้องถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หากพยานหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอที่จะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษแล้วย่อมก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสียต่อระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยก็ตาม กล่าวคือ

หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จริง เท่ากับได้ใช้อำนาจและบุคลากรของรัฐรังแกละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนคนบริสุทธิ์และกรณีจะยิ่งเลวร้ายกว่าหากคนบริสุทธิ์นั้นต้องติดคุกสูญเสียชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีหรืออาจถึงขั้นถูกประหารชีวิต แต่หากจำเลยคือผู้กระทำผิดตัวจริง การยกฟ้องย่อมหมายถึงการเสียหายสูญเปล่าของทรัพยากรของรัฐ และเป็นความล้มเหลวในการควบคุมอาชญากรรมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เท่ากับเป็นการปล่อยอาชญากรลอยนวลไปก่อกรรมกับประชาชนต่อไปและใช้กระบวนการสอบสวนฟ้องร้องที่ไม่รอบคอบนี้ฟอกตัวอาชญากรเพราะไม่อาจจะดำเนินคดีในความผิดเดิมได้อีกเพราะขัดต่อหลักการสากลว่าบุคคลย่อมไม่ถูกดำเนินคดีในการกระทำใดถึงสองครั้ง

หลักการรับฟังพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย (Beyond Reasonable Doubts) นอกจากใช้ในชั้นการสั่งฟ้องดำเนินคดีของอัยการจะกระทำได้ต่อเมื่อสิ้นสงสัยและมั่นใจว่าการฟ้องคดีจะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษแล้ว หลักการรับฟังพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัยยังเป็นหลักสำคัญที่ใช้ในการพิพากษาคดีของศาลด้วย กล่าวคือ ห้ามมิให้ลงโทษจนกว่าจะเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง และหากโจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยให้สิ้นสงสัยแล้วให้ศาลยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ในประเทศที่ใช้ระบบลูกขุนอย่างสหรัฐอเมริกา จำเลยจะถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดได้ต่อเมื่อคณะลูกขุนมีมติเป็นเอกฉันท์ หากมีลูกขุนบางคนยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ทำให้การตัดสินไม่เป็นเอกฉันท์ (Hung Jury) ก็จะลงโทษจำเลยไม่ได้

ระบบการดำเนินคดีอาญาแบบระบบกล่าวหา (Adversarial system) ที่ใช้ในประเทศกลุ่ม Common law เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ที่ใช้ในประเทศกลุ่ม Civil law เช่น ฝรั่งเศส เยอรมันฯ มีความแตกต่างในด้านหลักการและวิธีพิจารณาความในชั้นศาล กล่าวคือ

ระบบกล่าวหาที่มีความเชื่อว่า คู่ความเท่านั้นจะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ในทางคดีของตนได้ดีที่สุด ดังนั้นการพิจารณาคดีในชั้นศาลจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่มีหน้าที่ในการนำพยานหลักฐานมานำสืบประกอบข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนโดยศาลจะวางตนเป็นกลางเสมือนกรรมการในคดี มีการถามค้านพยานที่ให้การเป็นปฏิปักษ์กับตนและถามติงไม่จำกัดจำนวนครั้งจนกว่าจะสิ้นสงสัยเพื่อสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ (แต่กฎหมายประเทศไทยโดยหลักให้ถามได้ครั้งเดียว) ความผิดพลาดบกพร่องทางเทคนิคเรื่องระยะเวลาหรือการไม่นำเสนอข้อเท็จจริงใดๆในคดีที่นำไปสู่การแพ้ชนะกันล้วนเป็นความรับผิดชอบและความเสียหายของคู่ความฝ่ายนั้นๆเอง

ส่วนในระบบไต่สวนเชื่อว่ารัฐเท่านั้นที่จะมีความเป็นกลางที่จะให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีอย่างแท้จริงและเพื่อป้องกันการใช้คดีอาญาในการกล่าวหากลั่นแกล้งกัน ระบบไต่สวนไม่ใช่ระบบที่คู่พิพาทต่อสู้กันในศาลแต่เป็นระบบการแสวงหาความจริงโดยรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งศาลและอัยการจะทำหน้าที่แสวงหาความจริงในการเรียกพยานหลักฐานต่างๆเข้าสู่การพิจารณา ระบบไต่สวนนี้จะไม่มีคำพิพากษาที่โยนความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าบกพร่องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ไม่สมบูรณ์เพราะเป็นหน้าที่ของศาลเองโดยตรงที่จะทำความจริงให้ปรากฏ จึงจะไม่มีการพิพากษายกฟ้องง่ายๆในคดีโดยให้เหตุผลการยกฟ้องในทางเทคนิคโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและความจริงแห่งคดี การอำนวยความยุติธรรมในระบบไต่สวนจึงเป็นภารกิจและความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่หรือภาระของคู่ความในคดี เป็นต้น อย่างไรก็ตามระบบไต่สวนจะมีข้อวิจารณ์ว่าความยุติธรรมจะอยู่บนความไว้ใจฝ่ายรัฐมาก หากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งศาล อัยการมีอคติเอนเอียงหรือทุจริตคอรัปชั่นแล้วจะเกิดความเสียหายต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรงไม่อาจแก้ไขได้

แม้จะมีความแตกต่างในวิธีการอำนวยความยุติธรรมในชั้นพิจารณาคดีของศาล แต่ทั้งประเทศที่ใช้ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนล้วนมีปรัชญาและแนวทางการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน การคุ้มครองสิทธิ์ผู้ต้องหาที่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน กล่าวคือ ประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมจึงมอบภาระให้ฝ่ายรัฐเท่านั้นที่มีภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาและไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายใช้เงินว่าจ้างทนายความในการริเริ่มดำเนินคดีอาญาเพื่อป้องกันการใช้คดีอาญาในการกล่าวหากลั่นแกล้งกันนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวายของสังคม เมื่อบุคคลถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์การดำเนินคดีโดยรัฐตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลให้มีฐานะเป็นผู้ต้องหาจะต้องกระทำด้วยความรอบครอบโดยอัยการเป็นผู้แจ้งฐานความผิด (Charge) ที่จะดำเนินคดีเท่านั้นและจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานปราศจากข้อสงสัยและมั่นใจว่าจะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษเท่านั้น

รัฐซึ่งมีสถานะอำนาจและอาณาเขตเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ เมื่อรัฐโดยพนักงานอัยการในฐานะผู้แทนรัฐประสงค์จะดำเนินคดีต่อจำเลย หมายความว่า เป็นการใช้อำนาจรัฐที่มีสถานะเป็นหนึ่งเดียวทั่วประเทศ การแบ่งพื้นที่การสอบสวนของสถานีตำรวจเป็นเพียงการบริหารจัดการภารกิจหน้าที่ในทางคดีเท่านั้นไม่ใช่การแบ่งแยกอำนาจรัฐ  จึงไม่อาจจะมีกรณีการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุทำการสอบสวนผิดท้องที่และส่งผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องและปล่อยอาชญากรลอยนวลแต่อย่างใด กรณีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1381/2555 เหตุเกิดตำบลนาโคก อำเภอ เมืองสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของ สถานีตำรวจภูธรบางโทรัด แต่ผู้จับนำผู้ต้องหาส่งสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาครทำการสอบสวนและสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการดำเนินคดี ศาลพิพากษาว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่การยกฟ้องโดยใช้เขตพื้นที่การบริหารจัดการมาเป็นเหตุผลสำคัญกว่าการอำนวยความยุติธรรมให้ปรากฏ จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องมีการสร้างความเข้าใจในปรัชญาการดำเนินคดีให้นักกฎหมายไทยได้เข้าใจต่อไป

ระบบการดำเนินคดีของประเทศต่างๆทั้งระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน จะมีปรัชญาวิธีคิดในการสืบสวนสอบสวนและขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เหมือนกัน กล่าวคือ ต้องเป็นระบบที่ให้อัยการสามารถได้รับพยานหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อทำให้ความยุติธรรมปรากฏตั้งแต่ชั้นเริ่มคดี ดังนี้

1.เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมในประเทศฝรั่งเศสเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งเหตุอาชญากรรมทันทีต่อสำนักงานอัยการท้องที่เกิดเหตุ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน (เป็นดุลยพินิจของฝ่ายพิสูจน์หลักฐานว่ามีความจำเป็นจะต้องเก็บหลักฐานอย่างไร ไม่ใช่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเสร็จแล้วจะต้องส่งเอกสารต้นฉบับที่ได้จัดทำขึ้นส่งมอบต่ออัยการโดยเร็ว เพื่อให้ทั้งสำนักงานอัยการท้องที่เกิดเหตุ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานได้ทราบและบูรณาการปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุทันทีตามส่วนภารกิจที่ตนต้องรับผิดชอบเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายใดโดยลำพังสามารถทำการบิดเบือนพยานหลักฐานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรมที่แท้จริง กรณีเป็นเช่นเดียวในประเทศเยอรมันที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะต้องส่งเอกสารการสอบสวนต่อพนักงานอัยการทันทีที่มีการสอบสวนความผิดอาญา ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ให้หลายหน่วยงานเข้ารู้เห็นตรวจสอบการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็วเช่นนี้จะป้องกันเจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตและป้องกันอำนาจการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้เพราะจะไม่สามารถแก้ไข ดัดแปลง บิดเบือนพยานหลักฐานที่แท้จริงแห่งคดีเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ได้ โดยพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนการสอบสวนโดยไม่ต้องเสนอความเห็นใดๆให้อัยการพิจารณาเพราะอัยการได้ร่วมรับรู้และสั่งการในการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่เริ่มคดีแล้ว จึงไม่มีการสอบสวนที่ปิดบังอำพรางบิดเบือนพยานหลักฐานหรือทำงานแบบขัดแย้งขัดแข้งขัดขาแบบการสอบสวนในประเทศไทย

กรณีในประเทศสหราชอาณาจักร (UK) เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถที่จะเข้าพบพนักงานอัยการตั้งแต่เริ่มต้นการสอบสวนเพื่อขอคำปรึกษาถึงพยานหลักฐานใดบ้างที่พนักงานอัยการต้องการให้มีการรวบรวมเพื่อความหนักแน่นเพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาสั่งคดีเพื่อดำเนินคดีต่อในชั้นศาล อย่างไรก็ตามในการสอบสวนสำหรับคดีที่มีการตาย คดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าปรึกษาพนักงานอัยการทุกกรณี

2.การดำเนินคดีอาญาอยู่บนพื้นฐานหลักการพิสูจน์ความจริงแห่งคดี โดยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งสำนักงานอัยการ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและนำเสนอข้อเท็จจริงทุกชนิดที่จะพิสูจน์ความจริงแห่งคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ทั้งฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายผู้ต้องหาไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ตามมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของมลรัฐ Texas อัยการเป็นผู้แทนแห่งรัฐในการดำเนินคดีอาญาในศาล หน้าที่สำคัญสูงสุดของอัยการไม่ใช่เพียงเพื่อการได้มาซึ่งการพิพากษาลงโทษแต่คือการอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้น โดยอัยการจะต้องเปิดเผยพยานหลักฐานใดๆที่อาจจะแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย นอกจากนี้ The Committee of Ministers of the Council of Europe ระบุแนวทางการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการตามไว้ใน Rec (2000)19 ดังนี้

ข้อ 26 อัยการจะต้องระวังตนในการปฏิบัติหน้าที่โดยให้ความเสมอภาคแก่ผู้ต้องสงสัยในทุกสถานการณ์ไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบเกิดขึ้น

ข้อ 28 อัยการจะต้องไม่นำเสนอพยานหลักฐานที่ตนรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากเกิดความไม่แน่ใจจะต้องร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบการว่าเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้หรือไม่ (admissibility of evidence)

ข้อ 29 อัยการจะต้องทำหน้าที่ปกป้องหลักการ the principle of equality of arms กล่าวโดยเฉพาะอัยการจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆที่ตนเองมีอยู่ที่อาจส่งผลเสียต่อความยุติธรรม

มีนักกฎหมายและนักอาชญาวิทยาไทยหลายๆท่านกล่าวว่าฝ่ายรัฐมีทรัพยากรทั้งตำรวจและหน่วยงานอื่นๆที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายอัยการได้มีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีได้เปรียบจำเลยมาก  จึงจำเป็นจะต้องเสริมประสิทธิภาพในการต่อสู้คดีให้แก่ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นอาชญากรให้มีความสามารถเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐในการต่อสู้คดีตามหลัก  the principle of equality of arms นับเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง เพราะเท่ากับรัฐจะไปลงทุนสนับสนุนอาชญากรเพื่อให้หลุดพ้นโทษทางอาญาตามกฎหมาย ทั้งๆที่หลักสากลจะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้โดยวางแนวทางให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับทั้งฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายจำเลยอย่างเท่าเทียมกันโดยอัยการจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆที่ตนเองมีอยู่ที่อาจส่งผลเสียต่อความยุติธรรม อัยการต้องควบคุมตรวจสอบไม่ให้ตำรวจใช้วิธีการที่ไม่ชอบหรือละเมิดสิทธิประชาชนในการรวบรวมพยานหลักฐานโดยอัยการมีหน้าที่ร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบว่าเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้หรือไม่ด้วย ตามหลักการที่บัญญัติในข้อ 26, 28 และ 29 ของ The Committee of Ministers of the Council of Europe ดังกล่าวไว้ข้างต้น

3.การแจ้งข้อกล่าวหาและสถานะภาพการตกเป็นผู้ต้องหา ตามหลักการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ก่อนการใช้กำลังจับกุมผู้ใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งให้ผู้นั้นทราบถึงข้อหาในเบื้องต้น รวมถึงแจ้งสิทธิและข้อเท็จจริงที่จะต้องถูกจับกุม (ไม่ผูกมัดการแจ้งข้อหาหรือฐานความผิดของอัยการ) ด้วยเหตุผลว่าไม่มีผู้ต้องถูกจับคนใดจะรู้และเข้าใจข้อกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน การแจ้งข้อเท็จจริงในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนี้เพียงเพื่อให้บุคคลผู้จะต้องถูกจับได้ทราบถึงพฤติการณ์ วันเวลา สถานที่ที่อ้างว่าตนได้กระทำความผิดเพื่อให้ผู้ต้องถูกจับเข้าใจและและมีโอกาสในการให้การอย่างเต็มที่เท่านั้น หากพยานหลักฐานหนักแน่นว่าเป็นผู้กระทำความผิดและการจับมีเหตุอันสมควร (Probable cause) โดยใช้กำลังในการจับพอสมควรแก่เหตุและมีความจำเป็นที่ต้องควบคุมตัว ไม่มีการทำร้าย ขู่เข็ญผู้ต้องถูกจับแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกา อัยการจะตรวจสอบพยานหลักฐานทันทีและเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งข้อหาและฐานความผิดเฉพาะกรณีที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องภายในเวลา 72 ชั่วโมงและผู้ถูกจับจึงจะมีสถานะตกเป็นผู้ต้องหาทันทีเฉพาะกรณีที่อัยการแจ้งฐานความผิด (Charge) และสั่งฟ้องคดีเท่านั้น โดยอัยการไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อหาที่ผู้จับกุมแจ้งไว้แล้ว แต่อัยการสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อหาและฐานความผิดต่อผู้ต้องหาได้ตลอดเมื่อได้พยานหลักฐานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงไม่มีกรณีให้ตำรวจซึ่งตามกฎหมายสากลมีฐานะเป็นผู้ช่วยอัยการและต้องนำเสนอความเห็นต่ออัยการเพื่อออกคำสั่ง กลับมีนโยบายแย้งคำสั่งไม่ฟ้องทุกเรื่องไปที่อัยการสูงสุด ทำให้ประชาชนต้องมีสภาพตกเป็นผู้ต้องหาก่อนในทุกๆคดีและมารอลุ้นว่าอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายต้องถูกคุมขังสูญเสียเสรีภาพยาวนานในคุกเพราะนโยบายแย้งทุกเรื่องในกระบวนการยุติธรรมแบบประเทศไทย

ฐานะการเป็นผู้ต้องหาภายหลังจากอัยการแจ้งข้อหาหรือฐานความผิดแล้วนี้เป็นกรณีเช่นเดียวกับประเทศนอร์เวเพื่อมิให้ฝ่ายจับกุมใช้อำนาจยัดข้อหาตามอำเภอใจ โดยกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้อัยการจะต้องฟ้องคดีหลังการจับกุมภายในเวลา 30 วัน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะให้เวลาในการฟ้องคดีผู้ต้องสงสัยเพียง 10 วันภายหลังการจับกุม เนื่องจากโดยทั่วไปในประเทศยุโรป อเมริกาและเอเชีย เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ฯ พนักงานอัยการจะได้รับแจ้งและทราบเหตุอาชญากรรมทันทีตั้งแต่วันเกิดเหตุและได้มีโอกาสรู้เห็นพยานหลักฐานตั้งแต่วันแรก โดยอัยการจะเป็นผู้รับรองความจำเป็นในการไปขออนุมัติหมายจับจากศาล จึงใช้ระยะเวลาไม่มากในการฟ้องคดีหลังจากการจับกุมและอัยการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยที่ถูกอัยการพิจารณาพยานหลักฐานก่อนตั้งแต่วันควบคุมตัวและรับรองความจำเป็นในขอออกหมายเพื่อการควบคุมตัวจะถูกฟ้องคดีค่อนข้างแน่นอน ต่างจากประเทศไทยที่ให้ตำรวจรู้เห็นพยานหลักฐานโดยลำพัง ใช้กำลังจับกุมตามลำพัง แจ้งข้อหาเองตามลำพังและขอศาลเพื่อออกหมายควบคุมประชาชนได้เอง 84 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบจากอัยการตั้งแต่เริ่มคดี หากอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวจะติดคุกเสียเสรีภาพโดยไม่ได้รับค่าทดแทนใดๆ กระบวนการยุติธรรมของไทยจึงเป็นระบบที่เอาเสรีภาพของประชาชนมาเสี่ยงภัยจากการให้ถูกคุมขังไว้ก่อนแล้วจึงส่งสำนวนเพื่อให้อัยการพิจารณาพยานหลักฐานว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ จึงไม่ได้มาตรฐานสากลที่โดยหลักการจะต้องไม่มีการขังก่อนการฟ้องรวมถึงการขังระหว่างรอการพิจารณาคดีต่อศาลหรือหากจะมีการขังระหว่างพิจารณาก็ต้องด้วยเหตุผลจำเป็นอย่างที่สุด

4.การขอหมายอาญา

เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและป้องกันประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐในการค้น การจับ การขังโดยมิชอบ การออกหมายอาญาต่างๆจะต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากหน่วยงานอื่นๆ กล่าวคือก่อนจะไปขออนุมัติจากศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องได้รับการรับรองจากอัยการในฐานะผู้แทนรัฐและมีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งคดีเพื่อตรวจสอบเหตุอันสมควร (Probable cause) ในการใช้อำนาจไปรบกวนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียก่อน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาอัยการจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่ามีเพียงพอที่จะพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการขอหมายอาญาหรือไม่ เช่นเดียว กับประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยอัยการจะต้องพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการฟ้องคดีได้ทันและเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ อัยการสามารถขอหมายขังต่อศาลได้โดยต้องแสดงพยานหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอ (Prima facie evidence) ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความของเกาหลีใต้ อัยการเท่านั้นที่จะมีหน้าที่ในการขอหมายอาญาต่อศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องร้องขอเพื่อให้อัยการพิจารณารับรองก่อนการขอออกหมายอาญาต่อศาลเสมอเพื่อคุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้จึงไปขอหมายเองต่อศาลโดยตรงไม่ได้

5.การจับด้วยเหตุซึ่งหน้า

ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR)  ข้อ 9 บัญญัติมิให้มีการจับกุมและคุมขังผู้ใดตามอำเภอใจ การตรวจสอบป้องกันมิให้บุคคลถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจนี้สอดคล้องกับหลักการแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ข้อ 9 บัญญัติว่า ผู้ใดก็ตามที่ถูกจับหรือควบคุมตัวจะต้องถูกนำตัวส่งผู้พิพากษาหรืออัยการในทันที่ ซึ่งในทางระบบกฎหมายฝรั่งเศสนั้นอัยการถือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจตุลาการ เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจาการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ผู้จับ เมื่อผู้ถูกจับถูกนำตัวมาที่คุมขัง อัยการซึ่งมีคุณสมบัติในการเข้าสู่ตำแหน่งเช่นเดียวกับผู้พิพากษาจะต้องมาตรวจสอบการจับโดยทันทีโดยอัยการจะตรวจสอบการใช้กำลังจับกุมว่ามีพฤติการณ์ที่สมควรแก่เหตุ มีการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ตรวจสอบว่ามีการบังคับขู่เข็ญเพื่อให้รับสารภาพหรือไม่ มีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงหรือคำให้การใดๆที่ต้องการจะให้หรือไม่ ทำให้อัยการมีโอกาสทราบเหตุและสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันการบิดเบือนพยานหลักฐานได้ทันทีและที่สำคัญก็เพื่อการคุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนได้ทันท่วงที ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งและรายงานให้พนักงานอัยการทราบทันทีที่มีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยอัยการจะส่งเจ้าหน้าที่หรือไปตรวจสอบการควบคุมตัวผู้ถูกจับด้วยตนเอง ณ สถานที่ควบคุมตัวเมื่อไรก็ตามที่อัยการเห็นว่าจำเป็นและสมควร  การจับตามหมายจับในประเทศญี่ปุ่นจะต้องนำตัวผู้ถูกจับพร้อมเอกสารรายงานบันทึกการจับกุมส่งให้พนักงานอัยการทันที  ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่ออัยการตรวจสอบการจับว่าชอบด้วยกฎหมายและรับรองการควบคุมตัวแล้ว อัยการจะมีเวลาเพียง 72 ชั่วโมงในการแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมฐานความผิด และภายหลังจากการจับและควบคุมตัว พนักงานอัยการจะมีระยะเวลาเพียง 30 วันในการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ในประเทศเกาหลีใต้อัยการสามารถใช้อำนาจในการจับผู้ต้องหาได้ ในกรณีการจับในความผิดซึ่งหน้า อัยการจะต้องร้องขอหมายต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง

6.การสอบสวนโดยหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนโดยอัยการเมื่อมีความจำเป็น

ประเทศต่างๆที่มีระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้มาตรฐานสากล จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุทันทีเพื่อป้องกันการทุจริตบิดเบือนความยุติธรรมโดยการบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานจริงและสร้างพยานหลักฐานเท็จ การให้อัยการหรือหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะของตน เช่น ป่าไม้ ศุลกากร กรมเจ้าท่า ฝ่ายปกครองฯ สามารถสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานและส่งสำนวนตรงต่ออัยการได้เองจะช่วยป้องกันการผูกขาดความยุติธรรมโดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในประเทศต่างๆจึงให้อัยการสามารถริเริ่มการสอบสวนได้เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็น เช่น คดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือคดีอาชญากรรมที่สำคัญหรือคดีที่มีประชาชนร้องเรียนขอความเป็นธรรม เป็นต้น ในบทนี้ผู้เขียนเสนอตัวอย่างการทำหน้าที่สอบสวนของอัยการในประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสวีเดนพอสังเขป ดังนี้

การสอบสวนของอัยการสหรัฐอเมริกา

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันส่งรายงานการสอบสวนโดยไม่ต้องเสนอความเห็นให้อัยการแล้ว หากอัยการเจ้าของสำนวนพบว่ามีพยานหลักฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อคดีบางส่วนขาดหายไปหรือไม่ได้รวบรวมไว้ในสำนวนหรือมีความจำเป็นอื่นใดก็สามารถสั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ โดยอาจจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนประจำสำนักงานอัยการนั้นๆดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและถ้อยคำเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งท้องที่ที่ส่งรายงานการสอบสวนนั้นก็ได้ ถึงกระนั้นก็ตาม อัยการก็ยังคงมีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ส่งรายงานการสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเช่นว่านั้นก็ได้

ในคดีสำคัญๆที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอเมริกาเป็นส่วนรวม หรือคดีใดๆที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนซึ่งอาจเกิดจากการใช้อิทธิพลท้องถิ่นของผู้ต้องหาหรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาหรือเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง หากมีการร้องขอจากผู้เสียหายหรืออัยการทราบเหตุดังกล่าวด้วยตนเอง อัยการประจำท้องถิ่น ของอเมริกามีอำนาจที่จะริเริ่มการสืบสวนสอบสวนเองได้โดยการสั่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนประจำสำนักงานอัยการไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานใดๆที่จำเป็นต่อคดีโดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งรายงานการสอบสวนก็ได้ ในการสืบสวนสอบสวนนี้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของอัยการมีอำนาจในการพกพาอาวุธปืนและมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าอัยการต้องการให้พยานบุคคลใดให้ถ้อยคำในศาล แต่พยานบุคคลนั้นไม่ให้ความร่วมมือ อัยการอาจจะดำเนินการให้ได้มาซึ่ง Subpoena ก่อนที่จะมีการออกคำสั่งการสั่งฟ้อง โดยการร้องขอต่อเสมียนประจำท้องถิ่น (District Clerk) เพื่อออก Subpoena (หมายเรียก) การออก Subpoena เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการโดยเสมียนประจำท้องถิ่น (District Clerk) ไม่มีอำนาจในการปฏิเสธ โดย Sheriff  จะทำหน้าส่ง Subpoena ให้แก่พยานเหล่านั้น

การสอบสวนของอัยการประเทศเกาหลีใต้

เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น ถ้าเป็นคดีอาญาโดยทั่วไปแล้วโดยปกติ ตำรวจจะเป็นผู้เริ่มต้นการสอบสวนภายใต้การควบคุมของอัยการ เช่น คดีลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย หรือจราจร แล้วทำความเห็นสรุปสำนวนเสนออัยการ โดยอัยการจะทำการสอบสวนต่อไปโดยอาจจะถามปากคำผู้ต้องหา หรือพยานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วยตนเองก็ได้  ส่วนในคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เช่น คดีเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ภาษีอากร คดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยปกติอัยการจะใช้อำนาจในการสอบสวนด้วยตนเองโดยไม่ใช้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ

อัยการเกาหลีใต้แต่ละคนมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้อย่างอิสระ โดยสามารถเริ่มคดีได้ด้วยตัวเอง หรือจะเข้าไปร่วมในคดีที่พนักงานสอบสวนทำอยู่ก็ได้ ซึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเกาหลีใต้ มาตรา 196  ได้บัญญัติไว้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวน ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานอัยการ นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังมีอำนาจออกหมายเรียก ผู้ต้องหา หรือพยาน เพื่อมาสอบสวนด้วยตนเองและมีอำนาจเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

สำหรับในคดีที่มีความสำคัญ มีความซับซ้อน เช่น คดีที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ คดีที่กระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะและมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน คดีเกี่ยวกับนักการเมือง หรือองค์กรอาชญากรรม อัยการของเกาหลีใต้มีอำนาจเริ่มต้นการสอบสวนสวนได้ด้วยตนเอง โดยในสำนักงานอัยการสูงสุดจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักงานสอบสวนกลางทำหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษที่มีความสำคัญ โดยอัยการจะมีเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยพนักงานอัยการทำหน้าที่ช่วยในการสอบสวน

ในคดีความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ มีหน่วยงานที่อยู่ในสำนักงานอัยการ เรียกว่าศูนย์ตรวจพิสูจน์ทางคอมพิวเตอร์ (Digital Forensic Center) มีอุปกรณ์การตรวจสอบการกระทำความผิด อุปกรณ์ในการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ในการตรวจค้นและดักฟัง เป็นต้น

การสอบสวนของอัยการประเทศญี่ปุ่น

โดยปกติเจ้าพนักงานตำรวจของญี่ปุ่นสามารถริเริ่มการสอบสวนคดีอาญาได้ทุกประเภทและในทางปฏิบัติจะเป็นภาระหน้าที่ของตำรวจในการสอบสวนเสมอ เว้นแต่คดีบางประเภท เช่น คดีเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล คดียาเสพติด คดีคุ้มครองแรงงาน เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในสังกัดของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้นมีอำนาจสืบสวนสอบสวนส่งสำนวนโดยตรงต่ออัยการได้โดยไม่ต้องส่งให้ตำรวจแต่อย่างใดเพราะมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในกฎหมายนั้นกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้ว

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้บัญญัติเป็นการบังคับให้อัยการต้องทำการสอบสวนทุกคดี แต่หากเห็นว่ามีความจำเป็นอัยการสามารถทำการสอบสวนได้ด้วยตนเองในความผิดทุกประเภท กล่าวได้ว่าอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนอยู่อย่างไม่จำกัดแต่ในทางปฏิบัติอัยการมักจะสอบสวนเฉพาะคดีที่สำคัญ เช่น คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง คดีภาษีอากร และคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ นอกจากนี้เจ้าพนักงานธุรการประจำสำนักงานอัยการ (Public prosecutor’s assistant officer) สามารถทำการสอบสวนได้เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่สอบสวนจากอัยการ  เนื่องจากอัยการมีอำนาจสอบสวนเองคดีจึงสามารถเข้าสู่การดำเนินการของอัยการได้ทั้งจากการส่งสำนวนจากพนักงานสอบสวนและจากการร้องทุกข์ กล่าวโทษโดยตรงจากผู้เสียหาย หรือจากการที่อัยการรับรู้การกระทำความผิดอาญาด้วยตนเอง

เมื่อมีความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนของอัยการสามารถออกคำสั่งเพื่อให้ตำรวจให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการสอบสวนได้ซึ่งตำรวจจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนอื่น ๆ จะต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากจับตัวผู้ต้องหา จากนั้นอัยการจะต้องมีคำสั่งฟ้องคดีภายใน 10 วัน หากสำนวนการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์เพียงพออัยการจะสั่งให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นทำการสอบสวนต่อไป ในกรณีที่อัยการเห็นว่าคดีมีความสำคัญจำเป็นจะต้องสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยานหรือตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตนเองพนักงานอัยการสามารถดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำสั่งในทางคดีต่อไป

การสอบสวนของอัยการประเทศสวีเดน

ในคดีอาญาปกติทั่วไปที่ไม่ใช่อาชญากรรมที่มีโทษร้ายแรง เช่น คดีจราจร คดีลักขโมยทั่วไปตำรวจจะทำหน้าที่สอบสวนโดยลำพัง แต่เมื่อไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมได้รายงานต่อพนักงานอัยการแล้วเป็นคดีที่มีการใช้อำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย หรือเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงหรือเหยื่อมีอายุต่ำกว่า 18 ปี อัยการจะต้องลงมาทำหน้าที่ควบคุมการสอบสวนทันที หากอัยการพิจารณาว่าคดีไม่มีความจำเป็นต้องมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปล่อยตัวผู้ถูกจับทันทีและเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะทำการสอบสวนคดีดังกล่าวต่อไป

7.ค่าชดเชยแก่ผู้ต้องหาในกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (5) บัญญัติว่า ผู้ใดก็ตามที่ถูกจับและควบคุมตัวโดยมิชอบ ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเช่นเดียวกับมาตรฐานทางปฏิบัติของประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามในประเทศไทยกรณีที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการฝากขังควบคุมตัวก่อนอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาใดๆเลยเพราะตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 บัญญัติให้จ่ายเฉพาะกรณีที่อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วและจำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ต่อมาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายสารบัญญัติที่ดีเพียงใดแต่หากเจ้าหน้าที่ก่ออาชญากรรมเสียเอง ทั้งสามารถทุจริตบิดเบือนคดีเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง นักการเมือง คนจ่ายส่วยสินบนหรือผลประโยชน์ได้ กฎหมายที่ดีก็ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการยับยั้งอาชญากรรม ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้มาตรฐานสากลนั้นจะต้องมีการสร้างระบบตรวจสอบ ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ในชั้นสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อป้องกันการบิดเบือนหรือทำลายพยานหลักฐานและบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการยับยั้งอาชญากรรม โดยมีระบบอัยการทำหน้าที่ทั้งให้คำปรึกษา ตรวจสอบและควบคุมพนักงานสืบสวนสอบสวนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานเช่นนานาอารยประเทศนั้น จึงต้องมีระบบที่พนักงานอัยการสามารถได้รับพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ถูกต้องแท้จริงเพื่อนำ “ความจริง” ไปสู่การพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นศาลนั้น เริ่มตั้งแต่การให้เจ้าหน้าที่แจ้งเหตุอาชญากรรมทันทีที่เกิดเหตุต่อสำนักงานอัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่เกิดเหตุอาชญากรรมเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองสามารถแสวงหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยการไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเพื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดและป้องกันมิให้หน่วยงานใดโดยลำพังสามารถบิดเบือนหรือทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ตามอำเภอใจ และทำให้อัยการมีเวลาเพียงพอในการพิจารณาพยานหลักฐานก่อนการสั่งคดีเพื่อความยุติธรรมแก่ทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและผู้เสียหาย

การให้อัยการเป็นผู้ตรวจสอบความชัดเจนของพยานหลักฐานตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อป้องกันประชาชนมิให้ถูกกลั่นแกล้งตกเป็นผู้ต้องหาง่ายๆโดยไม่เป็นธรรม โดยการเข้าตรวจสอบพฤติการณ์การใช้อำนาจจับกุมทันทีที่มีการจับเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและตรวจสอบเหตุผลความจำเป็นและพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนก่อนการไปขอหมายอาญาทั้ง หมายค้น หมายจับและหมายขังต่อศาล  จะช่วยป้องกันการจับและคุมขังผู้บริสุทธิ์โดยมิชอบและช่วยป้องกันปัญหาที่ประชาชนถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผิดพลาดหรือแจ้งข้อหาจำนวนมากและหนักเกินกว่าฐานความผิดที่อัยการจะสั่งฟ้องดำเนินคดีจริงๆ หากอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นหรือฟ้องในฐานความผิดที่เบากว่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชนที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพจากการถูกคุมขังนานเกินกว่าฐานความผิดที่อัยการจะฟ้องดำเนินคดีต่อศาลจริงๆ (excessive pretrial detention) ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เอาประชาชนไปขังก่อนได้นานถึง 84 วัน แล้วส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งคดีภายหลัง หากอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ประชาชนคนบริสุทธิ์อาจถูกขังฟรีๆ กล่าวได้ว่าระบบวิธีพิจารณาความอาญาที่ล้าหลังของประเทศไทยเป็นสาเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในกระบวนการยุติธรรม

การให้อัยการสามารถตรวจสอบการสอบสวนและริเริ่มคดีได้เมื่อประชาชนร้องขอความเป็นธรรมหรือกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง จะสามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในคดีของประชาชนได้ทันทีและแก้ปัญหาการละเว้นการดำเนินคดีพวกเดียวกันเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดส่งผลให้สามารถลดจำนวนอาชญากรรมที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ในที่สุด

ที่มา:เอกสารประกอบการสัมมนา”สังคายนากระบวนการยุติธรรม”ของ Innocence International Thailand

 

About The Author