สป.ยธ.จี้นายกฯสั่งตร.ผู้ร่วมขบวนการล้มคดี’บอส’ออกจากราชการไว้ก่อน-บี้อสส.สั่งพักราชการ’อัยการช.’
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ คดีบอส อยู่วิทยา (ฉบับที่ ๒) เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตำรวจผู้ร่วมขบวนการสร้างพยานหลักฐานเท็จในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา “ออกจากราชการไว้ก่อน” ระหว่างการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ ศ.ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธานในการหาตัวผู้กระทำผิดกรณีที่รองอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถประมาทชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วหลบหนี เนื่องจากได้พบหลักฐานว่ามีบุคคลหลายฝ่ายทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตำรวจ อัยการ เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐาน และทนายความได้ร่วมมือกันสร้างพยานหลักฐานเท็จเรื่องความเร็วนำเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพื่อทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานเดิมที่ถูกต้องและนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องของอัยการส่งให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ศอ.ตช.) ดำเนินการ และเลขาธิการ ปปท.ได้แจ้งให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญาและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางวินัยนั้น
เนื่องจาก ระหว่างนี้ข้าราชการตำรวจผู้เข้าไปร่วมสร้างพยานหลักฐานเท็จดังกล่าวทุกคน ยังคงปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ของตนกันเป็นปกติ ทั้งที่ผลการตรวจสอบได้พบพยานหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นทั้งตัวการและผู้สนับสนุน แม้กระทั่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการบริหารของหน่วยงานตำรวจระดับต่างๆ ที่ปล่อยปละละเลยหรืออาจรู้เห็นเป็นใจให้มีการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานคดีนี้มาตั้งแต่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตรวจวัดความเมา การปล่อยให้คดีขาดอายุความ หรือไม่แจ้งข้อหาเสพโคเคนนำมารวมไว้ในสำนวน
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า นายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการปราบปรามการทุจริตของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบงานสอบสวนคดีอาญาซึ่งส่งผลเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงยิ่งในปัจจุบัน จึงขอให้ดำเนินการดังนี้
๑.เร่งออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการตำรวจทุกคนที่ไปร่วมประชุมปรึกษากับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัยและทนายความตามที่ปรากฏหลักฐานคลิปเสียงการสนทนาในการสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญาเพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ณ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตามที่คณะกรรมการฯ รายงาน ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมกระทำผิดที่แน่ชัดในการกดดันให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์คำนวณความเร็วด้วยวิธีใหม่ของ ดร.สายประสิทธิ์ ก่อให้เกิดความสับสนได้ผลออกมาเพียง ๗๙.๒๓ กม.ต่อชั่วโมง ขัดต่อหลักวิชาการและมาตรฐานการปฏิบัติงานพิสูจน์หลักฐาน ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๐ ตามที่ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา และเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา ๗๙ (๕) ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ระหว่างรอผลการสอบสวนคดีอาญาและวินัยร้ายแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๙๕
๒.สั่ง ผบ.ตร. ให้เร่งรัดการสอบสวนทางวินัยให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน โดยรายงานความคืบหน้าให้ทราบผ่านเลขานุการ ศอ.ตช. ทุก ๗ วัน
๓.สั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมควบคุมการปฏิบัติงานของอธิบดีสอบสวนคดีพิเศษให้เร่งสอบปากคำ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ยืนยันหลักฐานคลิปเสียง และนำไปเสนอศาลออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดอาญาทุกคนที่อยู่ในการประชุมปรึกษาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
๔.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ออกคำสั่งตั้งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานคดีนี้มาตั้งแต่วันแรกเกิดเหตุและต่อเนื่องมาอีกหลายปี ทั้งการที่ไม่ดำเนินการให้นายวรยุทธเป่าทดสอบความเมาทันทีที่พบตัว การไม่ดำเนินคดีข้อหาเสพโคเคน รวมทั้งการปล่อยให้บางข้อหาขาดอายุความ ตำรวจผู้บังคับบัญชาทุกระดับตั้งแต่สถานีไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในแต่ละช่วงเวลา มีใครเป็นผู้รับผิดชอบทางการบริหารในการที่ไม่ตรวจสอบควบคุมหรือแม้กระทั่งรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำผิดดังกล่าวบ้าง
สป.ยธ.ยังได้ แถลงการณ์ คดีบอส อยู่วิทยา (ฉบับที่ ๓) เรื่อง ขอให้อัยการสูงสุด “สั่งพักราชการ” พนักงานอัยการผู้ร่วมขบวนการสร้างพยานหลักฐานเท็จกับตำรวจในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยาระหว่างรอผลการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ ศ.ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธานในการหาตัวผู้กระทำผิดกรณีที่รองอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถประมาทชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วหลบหนี เนื่องจากได้พบหลักฐานว่ามีบุคคลหลายฝ่ายทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตำรวจ อัยการ เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐาน และทนายความได้ร่วมมือกันสร้างพยานหลักฐานเท็จเรื่องความเร็วนำเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพื่อทำลายน้ำหนักหลักฐานเดิมที่ถูกต้องและนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ส่งให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ศอ.ตช.) ดำเนินการ และเลขาธิการ ปปท.ได้แจ้งให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญาและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการทางวินัยนั้น
เนื่องจาก ระหว่างนี้พนักงานอัยการ ช.ผู้ถูกระบุว่าได้เข้าไปร่วมสร้างพยานหลักฐานเท็จกับตำรวจในคดีดังกล่าว ยังคงปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อยู่เป็นปกติทั้งที่ผลการตรวจสอบได้พบพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นตัวการร่วมสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญาจนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดที่สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงดังกล่าว
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความจริงใจในการจัดการกับปัญหาการทุจริตของของบุคคลากรในองค์กรอย่างจริงจังจึงขอให้เร่งออกคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบว่า อัยการ ช.ที่ปรากฏในหลักฐานคลิปเสียงร่วมสนทนากับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตำรวจ อาจารย์มหาวิทยาลัยและทนายความในการสร้างพยานหลักฐานเท็จคดีอาญา ณ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ดังกล่าวคือใคร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร และเร่งดำเนินดดีวินัยร้ายแรงแจ้งให้ประชาชนทราบพร้อมทั้ง “สั่งพักราชการ” อัยการคนดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๘๐ โดยเร็ว