ยุติธรรมอำมหิต พ.ร.บ.ค่าตอบแทนจำเลยคดีอาญาช่วยไม่ได้
ยุติธรรมอำมหิต พ.ร.บ.ค่าตอบแทนจำเลยคดีอาญาช่วยไม่ได้
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของไทยนับแต่รัฐบาลยุคเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี ๒๕๐๖ ได้ ออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ให้กรมตำรวจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ผูกขาดอำนาจสอบสวน ฝ่ายเดียวทั่วประเทศ แม้กระทั่งในส่วนภูมิภาคที่ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเคยเป็นผู้รับผิดชอบ
เป็นข้าราชการพลเรือนผู้ไม่มียศแบบทหาร เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนจังหวัดและอำเภอตาม ป.วิ อาญาที่บังคับใช้ในปี ๒๔๗๘
เป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้ถูก ตำรวจผู้มียศและระบบการปกครองแบบทหาร กล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา และใช้กำลังกายรวมทั้งอาวุธเข้าตรวจค้นหรือจับกุมในกรณีต่างๆ
ซ้ำการผูกขาดอำนาจดังกล่าวยังไร้การตรวจสอบจากองค์กรภายนอกระหว่างสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการ!
ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความอยุติธรรมทางอาญา ต่อประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มาพักอาศัยในประเทศอย่างร้ายแรงแสนสาหัสนับแต่นั้นเป็นต้นมา
การยัดข้อหาประชาชนทั้งการ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือ ออกหมายจับ ตำรวจไทยสามารถทำกันได้แสนง่ายทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค!
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ตำรวจออกหมายเรียกเอง หรือเสนอให้ศาลเป็นผู้ออกหมายจับตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
ปัจจุบันนี้ แค่มีใครสักคนที่อ้างว่าตน เป็นผู้รักชาติอย่างเหลือล้น เดินขึ้นสถานีตำรวจไปแจ้งความกล่าวหาคนนั้นคนนี้ว่ากระทำความผิดทางอาญา ไม่ว่าบทกฎหมายมาตราใด
ถ้าเป็นความผิดที่มีโทษ จำคุกเกินสามปี ขึ้นไป เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีโทษจำคุกถึงห้าปี ตำรวจแค่ลงบันทึกประจำวันรับคำกล่าวโทษและสอบปากคำผู้กล่าวหาคนนั้นประกอบไว้เสร็จแล้ว
ก็สามารถนำไปเสนอศาลออกหมายจับได้ทันทีตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่าเป็นกรณีมี พยานหลักฐานการกระทำผิดตามสมควร?
แต่ถ้าโทษต่ำกว่าสามปี ก็จะออกหมายเรียกสองครั้งให้มาพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ถ้ายังไม่มาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ได้รับหมายแล้วหรือมีเหตุขัดข้องใดที่ไม่ได้แจ้ง?
ตำรวจก็ใช้เป็นหลักฐานนำไปรายงานต่อศาลว่า ออกหมายเรียกสองครั้งแล้วไม่ยอมมา ผู้ต้องหาน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี เสนอศาลออกหมายจับได้ทันทีตามมาตรา ๖๖ วรรคสองเช่นกัน!
ไม่ว่าความผิดที่มีผู้กล่าวหานั้น จะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่อัยการจะสั่งฟ้องและพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษตามหลักสากลได้หรือไม่ก็ตาม!
ซึ่งศาลก็มักจะออกหมายจับให้ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนที่มายื่นคำขอเป็นส่วนใหญ่ โดยอธิบายว่า การออกหมายจับไม่ได้เป็นการรับรองหรือยืนยันอะไรว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริงหรือไม่แต่อย่างใด?
เมื่อตรวจสอบพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นความผิดที่มีอัตราโทษเข้าเกณฑ์จะออกหมายจับได้ ก็ออกให้ไปจับตัวมาสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา ๑๓๑ บัญญัติไว้เท่านั้น
แมกซ์ แชมป์โลกมวยไทยสภามวยแห่งเอเชีย (WBC เอเชีย) รุ่นซูเปอร์ไลต์เวต หรือ นายอัจฉริยะ วิโรจน์สุโนบล คือเหยื่อในการออกหมายจับของรัฐไทยคนหนึ่ง
ด้วยข้อหาว่าเป็นผู้ร่วมค้ายาบ้ารายใหญ่ ๓,๔๐๐,๐๐๐ เม็ด ที่ถูกจับได้ในจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย.๖๑
หลักฐานที่ทำให้แมกซ์ถูกออกหมายจับก็คือ การมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้าซีวิค ทะเบียน กค ๖๐๓๐ ชัยภูมิ ที่เคยใช้และได้ขายด้วยการเซ็นโอนลอยให้ผู้อื่นไป แต่ปี ๒๕๕๘
เมื่อขายได้เงินไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่แมกซ์จะไปรู้หรือสนใจว่า ใครจะนำไปขายต่อไปให้ใครอีกกี่ทอดกี่มือ ถือเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันทั่วไปในการซื้อขายรถ
แต่เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหาว่าร่วมกันค้ายาบ้า ๓,๔๐๐,๐๐๐ เม็ด ได้รวม ๙ คน โดยใช้รถยนต์ที่มีชื่อของแมกซ์เป็นเจ้าของคันดังกล่าวเป็นพาหนะ
สอบปากคำผู้ต้องหาหญิงคนหนึ่งก็บอกไปมั่วๆ ตามหลักฐานราชการว่ารถเป็นของแมกซ์
จึงทำให้แมกซ์ถูก ศาลออกหมายจับตามที่ตำรวจนำไปเสนอทันที
แมกซ์ถูกจับตามหมายในขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองไปชกอุ่นเครื่องเพื่อชิงแชมป์ที่ประเทศญี่ปุ่น
ถูกควบคุมตัวไปขังทั้งระหว่างสอบสวนและพิจารณาของศาลนานรวม ๑๔ เดือน
ถูกตีตรวนข้อเท้าทั้งสองข้างในฐานะผู้ถูกคุมขังในคดีร้ายแรงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอยู่นานสิบเดือน
เมื่อแมกซ์ต้องอยู่ถูกคุมขังในเรือนจำ ก็ไม่มีโอกาสหาพยานหลักฐานอะไรไปแสดงต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเช่นเดียวกับผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัว อีกหลายพันหลายหมื่นคน
น.ส.นลินดา จึงเดชชนะดล เมียสาวของแมกซ์ จึงต้องทำหน้าที่นี้แทน เธอต้องนั่งรถทัวร์เดินทางจากบ้านไปมาเพื่อหาหลักฐานว่าแมกซ์ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องอะไรกับการขนค้ายาเสพติดดังกล่าว และในวันเกิดเหตุก็มีหลักฐานชัดว่าแมกซ์อยู่ที่จังหวัดนครปฐม ไม่ได้ไปที่จังหวัดระนองแต่อย่างใด
สุดท้าย อัยการผู้สั่งฟ้องคดีไปไม่สามารถพิสูจน์กระทำผิดของแมกซ์ให้ศาลลงโทษไม่ได้ ศาลจึงได้พิพากษายกฟ้อง
อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด
แต่แมกซ์ได้รับความเสียหายย่อยยับ ทั้งทางเศรษฐกิจ อิสรภาพและชื่อเสียง แม้กระทั่งเข็มขัดแชมป์โลกมวยไทยให้กับคณะกรรมการที่มีคำสั่งให้ยึดคืนไป!
หลังได้รับอิสรภาพ แมกซ์ได้แต่ตั้งคำถามว่า ใครคือผู้รับผิดชอบที่ทำให้ชีวิตตนเองและครอบครัววิบัติป่นปี้อย่างไร้เหตุผลเช่นนี้?
แต่ไม่มีเสียงตอบจากผู้รับผิดชอบคนใด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลหลายคนที่ไปถ่ายภาพการจับยาบ้า ๓ ล้านเม็ดดังกล่าว หรือแม้กระทั่งอัยการ
ทุกคนบอกแต่ว่าได้ทำงานไปตามหน้าที่ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในการสอบสวน
ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการถูกคุมขัง ก็สามารถไปยื่นคำร้องขอเงิน “ค่าติดคุก” ต่อกระทรวงยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญา วันละ ๕๐๐ บาท ได้
เรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อตำรวจแห่งชาติและกลุ่มตำรวจผู้จับ แมกซ์ก็กำลังเตรียมดำเนินการอยู่
แต่ในเบื้องต้น ได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอค่าตอบแทนจำเลยคดีอาญาตามระยะเวลาที่ถูกคุมขัง ๑๔ เดือน คิดเป็นเงินประมาณ ๒๑๐,๐๐๐ บาท
คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ได้ใช้เวลาพิจารณาอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ มีมติว่าไม่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้!
ด้วยเหตุผลว่า คำพิพากษาว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” นั้น
ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา ๒๐ วรรคแรกคือ “เป็นผู้ที่ศาลพิพากษาว่าไม่ได้กระทำผิด”
ซึ่งในความเป็นจริง แทบจะไม่เคยปรากฏว่า ศาลใดเคยมีคำพิพากษาเช่นนั้นแต่อย่างใด?
ในปัจจุบัน ผู้ต้องหาที่ถูกจับหรือเป็นจำเลยถูกฟ้องคดีและถูกคุมขัง ไม่ว่าจะเป็นเวลานานกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี
เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง และไปยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา “ค่าติดคุก” แค่วันละ ๕๐๐ บาท จากกระทรวงยุติธรรม
ร้อยละ ๙๕ จะถูกปฏิเสธว่า ไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวให้ได้แทบทั้งสิ้น
งาน PR ประชาสัมพันธ์ ที่กระทรวงยุติธรรมพยายามเน้นว่า ปัญหาความอยุติธรรมทางอาญาที่ผู้ต้องหาผู้บริสุทธิ์ถูกจับตัวนำไปคุมขังในแต่ละปีซึ่งมีจำนวนมากมาย สามารถไปยื่นคำขอรับเงิน “ค่าติดคุก” วันละ ๕๐๐ ได้ จึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด?
พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญา ต้องได้รับการแก้ไขด้วยการร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
ผู้เสียหายในคดีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ แต่ พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายด้วยการออกเลขคดีให้ ผู้เสียหายนั้นก็ต้องมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาตามที่กำหนดด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น เงินเยียวยาก็ต้องจ่ายให้จำเลยและผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้องทุกคนถือเป็นความยุติธรรมที่รัฐสามารถคืนให้ได้ในเบื้องต้น
ส่วนคนใดที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่ควรให้ เพราะมีเหตุสงสัยว่าน่าจะเป็นผู้กระทำผิดจริง ก็ต้องกล้าวินิจฉัยแสดงเหตุผลว่าไม่ให้เพราะเหตุใด เป็นรายๆ
ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบงานสอบสวนให้เป็นมาตรฐาน โดยอัยการต้องเป็นผู้ตรวจสอบพยานหลักฐานก่อนออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับบุคคลใด
เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อจับแล้วสามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษบุคคลนั้นได้อย่างแน่นอน.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 7 ก.ย. 2563