นายกฯไฟเขียวกก.ชุด’วิชา’ทำงานอีก30วันปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ขึงขังไม่ปล่อยคนทำผิดลอยนวล

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล  เวลา 12.00น.วันที่ 1 ก.ย.63 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าหลังนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ได้สรุปรายงานและนำเสนอ ว่า กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในคดีต่างๆ ทุกข้อหา โดยเฉพาะข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ ถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ พ.ศ.2555 เรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่เห็นแย้งจนถึงที่สุด  ยอมรับว่าวันนี้เป็นคดีที่คาใจประชาชน และสังคม ตนเองไม่อยากให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบและกระบวนการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมีการดำเนินคดีมากมายโดยเฉพาะในคดีลักษณะดังกล่าวมีเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนคดี ในช่วงที่ผ่านมา และมีบางกรณีที่เกิดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ตนจึงได้เชิญนายวิชาและคณะกรรมการเข้ามาดำเนินการซึ่งกำหนดเวลา 30 วัน

 

“คณะกรรมการทำงานอย่างน่าชมเชย มีการประชุมเกือบทุกวัน ก็ขอชมเชยมา ณ ที่นี้ มีการส่งรายงานมาทุกรอบ 10 วัน และได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผม ปรึกษาหารือกันตลอดเวลา แต่ยืนยันว่าผมจะไม่ไปก้าวล่วงกับใคร เพราะผมถือว่าผมอยู่ตรงกลาง จะไปก้าวล่วงอัยการก็ไม่ได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระ ในส่วนของตำรวจผมได้สั่งการไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ“

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ชุดของนายวิชา ได้ลงมติเห็นว่าเรื่องนี้ได้ใช้เวลานานถึง 8 ปีเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการทนายความ ฝ่ายการเมือง ดูแล้วสลับซับซ้อนพิกลอยู่ ซึ่งสังคมไม่ไว้วางใจตรงนี้ มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมซ้ำซาก ถึง 14 ครั้ง คณะกรรมการตรวจสอบใช้คำว่าอาจจะมีการทำเป็นกระบวนการ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป ให้เกิดความชัดเจนขึ้น ก็ต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรได้ต่อไป ได้ตรงนี้ อย่าเพิ่งไปดูว่าเป็นใครบ้าง เพราะมันยังต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอีก ตนยังไม่อยากระบุรายชื่อตรงนี้ แม้หลายคนอยากจะรู้ ก็ได้แต่เพียงรู้เท่านั้นความขัดแย้งก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ  เดี๋ยวถึงเวลาก็จะปรากฏเอง

 

วันนี้ข้อเสนอแนะ 5 ข้อของคณะกรรมการฯ ที่เสนอมา ประกอบด้วย 1.ยกคดีขึ้นเพื่อดำเนินการใหม่โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ เรื่องนี้ดำเนินการได้อย่างแน่นอนมี 2-3 คดี ที่มีอยู่ 2.ดำเนินคดีและดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 3.ในบางเรื่องมีความชัดเจนว่ามีความผิดหรือไม่ แต่ต้องตรวจสอบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม  4.ซักซ้อมเกี่ยวกับความเข้าใจการมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำอย่างไรเมื่อรับมอบไปแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร ก็ต้องไปดูและแก้ไขกฎระเบียบอีกหลายเรื่อง วิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที ถ้าเป็นตำรวจตนก็กำกับดูแลอยู่แล้ว ในส่วนอัยการนั้นก็เป็นอิสระ ในส่วนของทนายความก็มีสภาทนายความที่จะไปดูแลว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และรัฐบาลจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นศูนย์กลางติดตามดูแลประสานงานในการดำเนินการความก้าวหน้า พร้อมรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ และ 5.ทางคณะกรรมการฯ ขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน โดยได้พูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ต้องช่วยกันผลักดันต่อไปเพราะฉะนั้นถ้าใครมีเบาะแสหรือข้อเสนอแนะอะไรก็ขอให้ส่งกับทางคณะกรรมการฯ

 

“หลายท่านได้ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการฯชุดนี้โดยไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน เพราะทุกคนต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นในเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักของประเทศชาติ ถ้าเราอยู่กันแบบไร้กฎหมายมันไม่ได้ บ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตยทันที ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายเหล่านี้มันอยู่ไม่ได้ หลายอย่างทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเสียไปเศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง ผมถามว่าเราจะได้อะไร ชัยชนะท่ามกลางซากปรักหักพัง ใครจะได้อะไรขอถามหน่อย”พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ยกมือไหว้ขอบคุณนายวิชาและคณะกรรมการที่มานั่งฟังการแถลงข่าวของนายกฯและรอเพื่อชี้แจงในรายละเอียด

 

ต่อมา เวลา 17.08 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า เมื่อวานนี้ ผมได้รับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้อง “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ที่คุณวิชา มหาคุณ และคณะได้ดำเนินการตรวจสอบ ผมได้อ่านเอกสารทุกหน้า และรู้สึกว่าสิ่งที่ได้อ่าน เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย

 

ผมขอเริ่มด้วยการพูดถึงสิ่งที่ผมไม่สามารถทำได้ก่อนผมไม่ใช่คนที่จะตัดสินได้ว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา มีความผิดหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ศาลและผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตัดสิน ตามหลักกฎหมาย และหลักฐานต่างๆ ที่นำมาประกอบคดี อย่างถูกต้อง

 

แต่สิ่งที่ผมสามารถทำได้ – และผมจะทำ – คือ คดีนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการเร่งด่วน และให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ “บอส” ในคดีที่ยังไม่หมดอายุความ ภายใน 30 วัน เราต้องไม่ปล่อยให้คนหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม โดยใช้วิธีถ่วงเวลาให้หมดอายุความ และผมถือว่า การปล่อยให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เลวร้ายด้วยเหมือนกัน

 

และมีอีก 2-3 เรื่องที่ผมขอพูด ผมขอบอกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีเหล่านี้ว่า ขอให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และใช้จริยธรรมและศีลธรรมนำทาง นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะไม่อย่างนั้นคุณเองก็อาจจะเดือดร้อนด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือ ตามที่ผมเคยกล่าวถึงวิธีการทำงานแบบ New Normal ของผม และภาครัฐ ว่าเราจะต้องทำงาน โดยรับผิดชอบกับงานของตัวเอง และรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเราด้วย และตามรายงานที่ผมได้รับมาเมื่อวาน ผมเห็นชัดเจนว่า อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส หรือใช้จริยธรรมและศีลธรรมนำทางเท่าใดนัก เพราะฉะนั้น ผมจะสั่งการให้เริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคล ที่อาจจะเกี่ยวข้องทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งจากปฏิบัติหน้าที่ หรือการไม่ปฏิบัติหน้าที่

 

ผมขอให้ทุกคนจำกรณีนี้ เรื่องนี้ มี 2 ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคนแรก คือ ตำรวจดีๆ ท่านหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเช้ามืดของวันนั้น ส่วนอีกหนึ่งผู้เสียหาย ก็คือ ประเทศไทยของเราทั้งหมด เพราะวิธีการดำเนินคดีในกรณีนี้ ได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรง กับพื้นฐานที่สำคัญของสังคม 2 อย่าง นั่นคือ ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรม และความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการบังคับใช้กฎหมาย เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของยุคสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่มากขึ้น จากผู้นำ

 

ผมขอขอบคุณ คุณวิชา ที่เสียสละรับภารกิจที่ยากมากนี้ และผมต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญและผู้อาวุโสทุกท่านในคณะ ที่ได้เสียสละทำภารกิจนี้เพื่อประเทศ สิ่งที่ท่านทั้งหลายทำให้ประเทศในครั้งนี้ จะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ มากกว่ากรณีนี้กรณีเดียวผมขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง

 

About The Author