ตำรวจสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน เสนอให้อัยการสั่งฟ้อง!
ตำรวจสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ไม่ทราบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรู้และตระหนักอย่างแท้จริงหรือไม่ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศขณะนี้ อยู่ในขั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด?
จากสถานการณ์เดิมที่ย่ำแย่ผนวกกับเหตุการณ์ระบาดของเชื้อโควิดที่ทำให้รัฐต้องปิดประเทศ ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เช่นปกติ ได้ทำให้ธุรกิจทั้งรายย่อยแม้กระทั่งรายใหญ่ต้องมีอันเป็นไป ผู้คนไม่มีรายได้และกลายเป็นคนตกงานเพิ่มขึ้นในแต่ละวันกันมากมาย
ซึ่งหลายคนก็ได้ฆ่าตัวตายพร้อมลูกเมียเพื่อให้พ้นๆ จาก สังคมที่เขาคิดว่าไร้อนาคตและความหวัง นี้ไป
แต่กลุ่มคนที่ยังสุขสบายไม่เดือดร้อนเหมือนประชาชนทั่วไปก็คือข้าราชการ ทั้งพวกที่อยู่ในราชการและรับบำนาญที่หลายหน่วยงานมีตำแหน่งที่เรียกว่า ระดับบริหาร อยู่มากมาย คลาคล่ำ เกินจำเป็น!
โดยเฉพาะทหารและตำรวจผู้ใหญ่ ไม่มีใครได้รับผลระทบหรือต้องหวั่นไหวในเรื่องการถูกลดจำนวนคนหรือปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทนสารพัดลงเหมือนบริษัทห้างร้านต่างๆ แต่อย่างใด?
ส่งผลทำให้ผู้คนแห่ไปสมัครสอบเป็นข้าราชการในแต่ละตำแหน่งที่เปิดรับกันอย่างล้นหลาม หวังมีรายได้และสวัสดิการที่แน่นอนดีกว่าการทำมาหากินอย่างกระเสือกกระสนของประชาชนทั่วไป
ในขณะที่ลูกหลานตำรวจทหารผู้ใหญ่แม้กระทั่งเครือข่ายพ่อค้า ก็สามารถใช้ ช่องทางอภิสิทธิ์ บรรจุเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เป็นการภายใน ได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขันกันเหมือนลูกหลานประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด?
ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยที่สูงเป็นอันดับสามหรือ อาจเป็นที่สองของโลก แล้วด้วยซ้ำ กำลังถูก ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยุติธรรม แซงมาติดๆ!
การสอบสวนคดีบอสขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์นายดาบตำรวจวิเชียรตาย เรื่องง่ายๆ แต่เนื่องจากนายบอสเป็นลูกเศรษฐีมีระดับของประเทศ ส่งผลทำให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานกันแบบพิลึกพิลั่น
เวลาผ่านไปถึง 8 ปี จนกระทั่งป่านนี้ กระบวนการยุติธรรมไทยก็ยังสรุปไม่ได้ว่าบอสขับรถประมาทหรือไม่?
หลังประชาชนส่งเสียงเอะอะโวยวาย อัยการก็ได้สั่งให้ตำรวจสอบสวนหาพยานหลักฐานใหม่ ตามที่ได้ข้อมูลจากสื่อ!
โดยหวังว่าจะใช้ในการเปลี่ยนคำสั่งเป็นฟ้องตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 147 เปิดช่องไว้ หลังจากที่รองอัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบงานร้องขอความเป็นธรรมได้สั่งไม่ฟ้องตามกฎหมายไปแล้ว ซึ่งไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก
เนื่องจาก พยานหลักฐานใหม่สำหรับอัยการ ซึ่ง ไม่ได้ใหม่สำหรับตำรวจ แต่ ถูกซุกซ่อนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการตรวจสารโคเคน หรือ ดร.สธน ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ชำนาญในการคำนวณความเร็วของรถนั้น ต้องสำคัญถึงขนาดน่าจะทำให้ศาลพิพากษาลงโทษได้
ไม่ใช่แค่ “พอฟ้อง” เหมือนการสั่งคดีของอัยการส่วนใหญ่ในแทบทุกเรื่องที่สร้างปัญหาเช่นหลายกรณีที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญในการสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดที่สำคัญตามที่ชี้แจงก็คือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ออกรายงานการคำนวณความเร็วของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานที่ได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหลังเกิดเหตุประมาณหนึ่งเดือน
กลับให้ถ้อยคำในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังจากที่ พลตำรวจเอกนอกราชการ และ ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานชั้นนายพลหลายคน ได้ช่วยกันสร้างกระบวนการทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความงุนงง!
พ.ต.ท.ธนสิทธิ์หลงคิดคำนวณตามสูตรใหม่ของ ดร.ที่แนะนำว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ ผลออกมาได้เพียง 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทำให้เจ้าตัวเกิดความไม่แน่ใจในรายงานเดิมและ ถูกบันทึกปากคำในวันนั้นทันที ว่าอาจเกิดความผิดพลาดได้!
แต่การบันทึกได้ลงวันที่ล่วงหน้าเป็น 3 มีนาคม 2559 ตามที่มีคนแนะนำ เพื่อให้มีเหตุผลเจือสมว่าไม่ได้มีใครบีบบังคับหรือกดดันให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ต้องลงชื่อหลังจากที่มีการบอกให้ทบทวนแต่อย่างใด?
กลายเป็น สารตั้งต้น ในการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานสำคัญเรื่องความเร็วตามมา
ดร.ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ให้ถ้อยคำว่าไม่น่าจะเกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง
รวมทั้ง นายจารุชาติและพลอากาศโท อีกคนหนึ่งซึ่งบอกว่าเห็นบอสขับรถแซงไปด้วยความเร็วเพียง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งความเร็วขนาดนั้น ถ้าเป็นจริง ไม่น่าจะแซงหรือชนท้ายรถของ ด.ต.วิเชียรได้ เนื่องจากมีนักวิชาการคำนวณไว้ประมาณ 60 กม.ต่อชั่วโมงเช่นกัน
เป็นการสอบสวนเพื่อทำลายหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ คือรายงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ส่งผลทำให้อัยการเกิดความสงสัยว่าบอสขับรถด้วยความเร็วถึง 177 กม.ต่อชั่วโมงจริงหรือไม่?
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ออกรายงานเองกลับบอกว่า ไม่แน่ใจ และอีกหลายปากแม้กระทั่งพลอากาศโทก็ยืนยันว่าไม่ได้เร็วเกินที่กฎหมายกำหนด
หลักฐานที่ไม่ชัดเจนและไม่สิ้นสงสัยเช่นนี้ แม้อัยการคนแรกจะมีคำฟ้องไป และรัฐบาลประเทศที่บอสได้หลบหนีไปอาศัยได้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาให้
แต่สุดท้าย ศาลก็อาจพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ อาญา มาตรา 227
กระบวนการยุติธรรมจะพังพินาศถูกตั้งข้อสงสัยมากมายยิ่งกว่านี้!
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่ ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธาน กำลังจะสรุปรายงานผลการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งพิจารณา
เห็นท่านบอกว่า เรื่องนี้ทำกันเป็นขบวนการใหญ่มีหลายฝ่ายแบ่งหน้าที่กันทำ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ!
ไม่ต่างจากทีมวิ่งผลัดสี่คูณร้อย!
ในสัปดาห์นี้จะครบ 30 วันตามกำหนด ท่านเตรียมจะเสนอนายกรัฐมนตรีและชี้เป้าในเบื้องต้นว่า มีใครกระทำผิดอาญา ช่วยผู้ต้องหาไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย และผู้รับผิดชอบคนใดบกพร่องต่อหน้าที่มีความผิดวินัยราชการบ้าง
ส่วนเรื่องการปฏิรูประบบงานสอบสวนอะไร ต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลังจากนี้อีกไม่น้อยกว่า 30 วัน
น่าเสียดายที่ท่านบอกว่า เรื่องใครอยู่ในข่ายต้องรับผิดทางอาญาหรือวินัยร้ายแรงต้องถูกไล่ออกปลดออก และไม่ร้ายแรง รวมทั้งในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไปจนถึงตำรวจแห่งชาตินั้น
เมื่อสรุปเสนอแล้ว ก็ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนรู้ได้?
ทำให้ผู้คนเสียความรู้สึกและไม่มั่นใจในรายงานดังกล่าวไปตามๆ กัน!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 31 ส.ค. 2563