‘วิชา มหาคุณ’เผย’ผบ.ตร.’ยอมรับจะเรียกสำนวนคดี’บอส’มาดูพร้อมแก้ไขหากมีข้อผิดพลาดไม่ให้เกิดช่องโหว่ซ้ำรอย

 

เมื่อวันที่11ส.ค.2563 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิชา มหาคุณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่ได้เชิญ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาชี้แจง ว่า ผบ.ตร.ชี้แจงว่าในระบบของทางตำรวจ เมื่อสั่งการหรือมอบอำนาจไปแล้วก็ถือเป็นการมอบสิทธิ์ขาดให้ โดยไม่ได้ติดตามดูกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่มีพล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร.เป็นผู้สั่งคดี ที่สั่งคดีในรายละเอียดอย่างไร ผบ.ตร.ไม่ได้รับรู้

 

นายวิชา กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯจึงให้ข้อสังเกตไปว่า ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ตำรวจมีข้อกำหนดเรื่องการมอบอำนาจอยู่ โดยผู้บังคับบัญชาสามารถติดตามดูในรายละเอียดได้ว่าจะต้องแก้ไขหรือไม่ รวมไปถึงการถอนอำนาจ แต่ปรากฏว่า ผบ.ตร.ยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาดที่จะต้องไปแก้ไขโดยด่วน ซึ่งจะต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินมาตรา 40 วรรค 2 ที่ระบุว่าผู้มอบอำนาจแล้วจะต้องติดตามและแก้ไขได้หากมีข้อผิดพลาด และถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่รู้เรื่องก็สามารถสอบถามและปรึกษากับทีมกฎหมายหรือที่ปรึกษาได้ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กร

 

นายวิชา กล่าวต่อว่า ดังนั้นผบ.ตร.ได้รับปากอยู่ 2 เรื่องคือ 1.จะไปแก้ไขระบบการมอบอำนาจไม่ให้มีช่องโหว่ที่จะให้เกิดกรณีอย่างเช่นคดีนายวรยุทธอีก 2.จะไปดูคดีนายวรยุทธ หลังจากที่ไม่ได้ดูมาเลย โดยจะไปเรียกสำนวนและหารือร่วมกับสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถ้าสามารถทำให้คดีนั้นไม่ยุติได้ผบ.ตร.ก็จะทำ โดยตนได้แจ้งให้ผบ.ตร.ทราบแล้วว่าเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้หรือคณะกรรมการฯเห็นว่าจะต้องทำให้สิ่งที่ค้างคาใจของผู้คนได้หมดไปว่าไม่มีกรณีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าหากเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง คือสามารถที่จะทบทวนได้ ผบ.ตร.บอกว่าก็จะทำ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯได้เผยแพร่คิวอาร์โค้ด ที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าไปหรือผู้ที่มีข้อมูลเสนอแนะเข้ามาได้

 

นายวิชา กล่าวอีกว่า วันนี้ถือว่าได้ความคืบหน้ามากที่สุด โดย ผบ.ตร.รับปากว่าจะไปทบทวน รับปากว่าจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสั่งฟ้องได้ หากสามารถเริ่มกระบวนการสั่งไม่ฟ้องใหม่ได้ ท่านก็ยินดีจะทำ ซึ่งท่านรับปากกับตนอย่างลูกผู้ชาย และลงนามในข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจที่มี พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หากพบว่ามีผู้กระทำความผิด ท่านจะนำตัวคนผิดมาลงโทษ และคำชี้แจงเหล่านี้ก็จะนำไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและดำเนินการต่อไป ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการฯ กับ ผบ.ตร. ซึ่งลงนามไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามวันนี้ตำรวจไม่ได้รายงานผลสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะทำงานตำรวจแต่อย่างใด โดยคณะกรรมการชุดนี้ไม่เกี่ยวในจุดนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับในจุดที่สามารถแก้ไขได้

 

“เรื่องความเห็นแย้งของตำรวจที่ไม่มีการตรวจสอบอะไรเลย จุดนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ ผบ.ตร.จะนำกลับไปแก้ไข และเราจะรายงานนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลตำรวจให้ท่านจัดการ ให้เป็นไปตามสิ่งที่เราตรวจสอบ คือเรามีข้อเสนอแนะ 2 อย่าง คือ 1.ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับให้เป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ 2.ต้องเป็นไปตามระเบียบของตำรวจด้วย” นายวิชา กล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง จะมีผลกระทบต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า นายเนตรลาออกยังไม่มีผลทันที ตนเข้าใจว่าอย่างนั้น และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่ว่าสถานะของนายเนตรเป็นอย่างไร ซึ่งนายเนตรยังอยู่บัญชีรายชื่อที่จะต้องเชิญมาชี้แจง ส่วนจะลาออกไปแล้ว เราก็มีอำนาจในการเรียกมาชี้แจงอยู่ เพราะมีอำนาจตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี

 

“ตอนนี้เราได้ข้อมูลอย่างดีที่จะสามารถทำให้เป็นผลได้ ซึ่ง ผบ.ตร.มาแบบชนิดที่เรียกว่า จะให้แก้อะไรก็ทำทั้งนั้น” นายวิชา กล่าว

 

เมื่อถามย้ำว่า กรณีที่ ผบ.ตร. เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงความเห็นไม่แย้งต่อคำสั่งอัยการได้ใช่หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ถ้าเผื่อเป็นการสั่งที่ผิดพลาด และไม่มีอำนาจ ก็สามารถที่จะปรับปรุงได้

 

เมื่อถามต่อว่าจะทำให้ผลการดำเนินการย้อนกลับมาถึงขั้นตอนที่ตำรวจทำความเห็นแย้งคำสั่งอัยการใช่หรือไม่ นายวิชา ตอบว่า “ใช่ๆ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ส่วนจะได้หรือไม่ ต้องไปดูกันยาวๆ”

 

เมื่อดูตามกฎหมายทำได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า “มันแน่นอนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ในโลกนี้ โดยเฉพาะกฎหมายก็เปิดช่องอยู่แล้ว”

 

นายวิชา กล่าวต่อด้วยว่า หลังจากนี้จะสรุปผลการทำงานตลอด 10 วันที่ผ่านมา เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีภายในช่วงค่ำวันนี้ โดยคาดว่าจะสรุปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาประมาณ 2 หน้ากระดาษ

 

About The Author