‘ขบวนการผีโม่สำนวน’นายกรัฐมนตรีควรจัดการและปฏิรูปอย่างไร
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
คดีนายบอส “วรยุทธ อยู่วิทยา” ที่ถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ แจ้งข้อหาว่าขับรถประมาทเป็นเหตุให้ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่จราจร สน.เดียวกันถึงแก่ความตายแล้วหลบหนี
เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ปี 2555 เวลาประมาณ 05.20 น.
สุดท้ายผลการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของ ตำรวจนครบาลที่แสนยาวนาน กินเวลา กว่า 7 ปี เป็นที่ยุติทางกฎหมายด้วย คำสั่งไม่ฟ้อง ของรองอัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบในการพิจารณาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563
สร้างความตะลึงงันแก่ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวโลกอย่างยิ่ง!
สิ่งที่ผู้คนทั้งประเทศรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 ก.ย.2555 ก็คือ ภาพข่าวตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลหลายคนนำชุดปฏิบัติการพิเศษไปล้อมบ้านนายบอสที่อยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุ ด.ต.วิเชียรถูกรถชนตายมากเท่าใด
บางคนให้สัมภาษณ์สื่อด้วยท่าทางขึงขึงเสียงดังว่าจะต้องนำตัวผู้กระทำผิดที่ขับรถชนตำรวจตายคาเครื่องแบบมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้
แต่หลังจากวันเวลาผ่านไปในระยะหนึ่ง คำพูดและเสียงที่เคยขึงขังก็กลับเงียบลงอย่างผิดปกติ!
ข้อสันนิษฐานแต่แรกทั้งของประชาชนและตำรวจต่างคิดตรงกันว่า เหตุน่าจะเกิดเพราะความมึนเมา
ซึ่ง พนักงานสอบสวนเวรผู้รับผิดชอบคดี มีหน้าที่ต้องสั่งให้บอสเป่าทดสอบทันทีที่พบตัว
แต่ก็ไม่ได้ทำ! หรือมีหลักฐานว่าบอสปฏิเสธการเป่า ซึ่งจะทำให้ถูกสันนิษฐานว่า เมา ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้?
ต่อมาในตอนเย็น กลับมีการสั่งให้ทดสอบและผลก็ปรากฏพบแอลกอฮอล์ปริมาณหนึ่ง
ซึ่งผลการ สอบปากคำพยานบุคคล ในประเด็นนี้กลับชี้ว่า ตอนเช้าบอสไม่ได้เมา แต่ หลังเกิดเหตุรู้สึกกลุ้มใจจึงกินเหล้า นำไปสู่การสรุปผลสอบสวนว่า บอสเมาหลังขับ!
ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือถือว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด?
ตำรวจเสนอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเรียบร้อย หมดห่วงเรื่องประมาท ไปหนึ่งข้อหา!
สำหรับคดีที่เหลืออยู่ ถ้าจะถือว่าบอสประมาทขับรถชนคนตาย ก็ต้องพิสูจน์ว่า ได้ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด คือ เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับในเขตเมือง
แต่ปัญหาคือ จะใช้พยานหลักฐานอะไรในการยืนยันการกระทำผิดของบอสข้อหานี้
รอยเบรกที่จะทำให้สามารถคำนวณความเร็วของรถขณะขับได้ ไม่ทราบว่าปรากฏหรือไม่?
หากไม่มีก็สามารถใช้วิธีเปรียบเทียบด้วยภาพจากกล้องวงจรปิดขณะรถแล่นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งจนถึงที่เกิดเหตุได้ แต่ไม่ทราบว่าตำรวจได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนหรือไม่เช่นกัน?
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดได้มีการเสนอให้อัยการสั่งฟ้องในข้อหาขับรถเร็วและขับรถประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา?
แต่พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สรุปสำนวนจะเสนอให้สั่งฟ้อง แต่เมื่อตรวจดูพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว สั่งฟ้องไม่ได้
เรียกกันว่า สำนวนไม่ตรงปก!
ไม่มีหลักฐานว่าบอสเมา ไม่ได้ขับเร็วเกินกำหนด ซ้ำคนตายขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดจะพิสูจน์ว่าบอสขับรถประมาทได้อย่างไร?
ในเรื่องการขับรถหนีเข้าบ้าน ไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานทันที หรือที่เรียกกันว่า หลบหนี ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร มาตรา 78 และเมื่อเป็นกรณีมีผู้ถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกถึงหกเดือนตามมาตรา 160 วรรคสอง
แม้จะกระทำความผิดในกรณีนี้และมีโทษจำคุกตามกฎหมาย ก็เพียงแต่จะทำให้เป็นฝ่ายถูกสันนิษฐานว่าประมาทเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวสามารถแสดงพยานหลักฐานนำมาหักล้างได้
ส่งผลทำให้อัยการต้องสั่งให้สอบสวนนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการเพิ่มเติมเรื่องความเร็วโดยวิเคราะห์จากสภาพรอยชนเพื่อประกอบการสั่งฟ้อง
ผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐานตรวจจากสภาพรถแล้ว ออกรายงานและให้การว่า น่าจะประมาณ 177 กม.ต่อชั่วโมง!
เป็นที่มาให้อัยการผู้รับผิดชอบ สั่งฟ้อง บอสข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย
แม้ความผิดเรื่องขับรถเร็วจะขาดอายุความ 1 ปีในการฟ้องลงโทษแล้ว แต่ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความประมาทให้ศาลลงโทษได้ แจ้งให้พนักงานสอบสวนติดตามตัวบอสมาฟ้อง
บอสเห็นท่าไม่ดี จึงได้หนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ
ต่อมาไม่ทราบว่าใครได้เป็นตัวแทนไปยื่นคำร้องต่อกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอความเป็นธรรมในเรื่องที่ถูกสั่งฟ้องคดี โดยอ้างว่า มีประจักษ์พยานบุคคลยืนยัน ว่าบอสไม่ได้ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดที่จะถือว่ากระทำความผิดฐานประมาททำให้มีคนตาย
หลังจากพิจารณาแล้ว กรรมาธิการฯ ได้ส่งพยานหลักฐานให้อัยการสูงสุดดำเนินการตามคำร้องขอความเป็นธรรม
รองอัยการสูงสุดจึงได้ส่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานสองปากนี้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562
การสอบปากคำพยานทั้งสองปากต่างให้การยืนยันตรงกันว่า ได้ขับรถอยู่ในถนนดังกล่าวตามหลังรถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร ด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เห็นรถเฟอร์รารี่ของบอสขับอยู่ในช่องทางที่ 3 ด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แล้วรถจักรยานยนต์ที่ ด.ต.วิเชียรขี่ ได้เปลี่ยนช่องทางจากช่องที่ 1 ไปช่องที่ 3 ตัดหน้ารถของบอสอย่างกระชั้นชิด ทำให้ถูกชนเอา
เมื่อการสอบสวนมีประจักษ์พยานถึงสองปากให้การยืนยันทั้งเรื่องความเร็วและการเปลี่ยนช่องทางอย่างกะทันหันของ ด.ต.วิเชียรตรงกันเช่นนี้
จึงขัดกับความเร็วที่ผู้ชำนาญกองพิสูจน์หลักฐานลงความเห็นว่าน่าจะขับเร็วถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซ้ำมีการสอบปากคำตำรวจยศพันตำรวจโทซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานสองคนให้ความเห็นในเวลาต่อมาว่า จากการตรวจสภาพรอยชนของรถ ไม่น่าจะแล่นด้วยความเร็วถึง 170 กม.ต่อชั่วโมง
นอกจากนั้น ก็ยังมีการสอบปากคำอาจารย์ระดับ ดร.ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งเมื่อเดือนมกราคมปี 2560 ให้ความเห็นว่า คำนวณความเร็วได้ประมาณ 76.175 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อนำความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมาพิจารณาประกอบคำให้การของประจักษ์พยานสองปากที่บอกว่า เห็นบอสขับรถเร็วเพียง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที
เป็นที่มาของการ กลับคำสั่ง จาก สั่งฟ้อง เป็น สั่งไม่ฟ้อง โดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง
ส่วนพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของบอส โดยเฉพาะเรื่องการขับรถเร็วเกินกำหนดที่ อาจไม่ได้ถูกรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เช่น คนขับรถคันอื่นหรือพยานบุคคลที่ยืนอยู่บริเวณนั้น จะมีหรือไม่อย่างไร รวมทั้งคำให้การของพยานสองปากนั้น สอดคล้องกับความเป็นจริงในการขับรถทั้งของบอสและ ด.ต.วิเชียรหรือไม่เพียงใด ไม่มีใครสามารถรู้ได้?
การสอบสวนความผิดทางอาญาที่มีปัญหาคาใจประชาชนอย่างยิ่งคดีนี้ ตั้งแต่กรณีที่ตำรวจไม่ตรวจความเมาของบอสในโอกาสแรกที่ทำได้ การที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกระดับตั้งแต่ ตร. บช. บก. และ สน. ปล่อยให้การสอบสวนเนิ่นนานมาหลายปี และบางคดีบางข้อหาก็ขาดอายุความไปจนเกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง
แต่มีตำรวจระดับ ผบก.ไปจนถึง สน.ที่เป็นพนักงานสอบสวนถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ผิดวินัยไม่ร้ายแรง และสั่งลงโทษ ตีมือเปาะแปะ แค่ ภาคทัณฑ์
เรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีควรสั่งการ “ตั้งคณะกรรมการอิสระระดับชาติ” ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายที่เชื่อถือได้ขึ้นตรวจสอบกระบวนการการสอบสวนทุกขั้นตอนว่า ผู้รับผิดชอบได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนสอดคล้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่เพียงใด?
แม้กระทั่งคำให้การของพยานที่ถูกเรียกมาสอบใหม่ มีที่มาที่ไปอย่างไร? เหตุใดจึงเพิ่งโผล่มาให้การในปี 2562 หลังจากเหตุเกิดถึง 7 ปี
และคำให้การที่มีความสำคัญต่อผลของคดีอย่างยิ่งเช่นนี้ ตำรวจมีการบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานไว้ให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้หรือไม่?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 27 ก.ค. 2563