สู้มา9ปี!พ่อหนุ่มวิศวกรขอบคุณสภาทนายฯช่วยสู้คดีชนะตำรวจชุดสืบสวนสกลนครยิงลูกชายตายแล้วยัดข้อหาเป็นเอเย่นต์จำหน่ายยาบ้า
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. 2563 ที่ห้องแถลงข่าว สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน นายส่งเสริม แสงฤทธิ์ บิดาของนายไพโรจน์ แสงฤทธิ์ วิศวกรโรงงานแห่งหนึ่ง ที่ถูกตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร ใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต ได้เข้าพบ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ นายสมศักดิ์ อัจจิกุล นายทะเบียนและกรรมการประชาสัมพันธ์ นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ และนายรัษฎา มนูรัษฎา กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ พร้อมคณะทำงานคดีฯ เพื่อขอบคุณและมอบเงินจำนวน 100,000 บาทให้แก่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ
จากกรณีที่นายไพโรจน์ แสงฤทธิ์ วิศวกรโรงงานแห่งหนึ่ง ถูกตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร ใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิตในรถยนต์ส่วนบุคคล ที่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 โดยอ้างว่าผู้ตายได้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ซึ่งเวลาต่อมา ขณะอยู่ที่โรงพยาบาล ตำรวจพบว่ามียาบ้าตกอยู่หว่างขาในกางเกงบ็อกเซอร์ จึงได้พยายามดำเนินคดีในข้อหาว่าเป็นเอเย่นต์จำหน่ายยาบ้า โดยทางครอบครัวเชื่อว่าผู้ตายน่าจะถูกยัดยาหลังจากถูกยิง และเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ จึงเข้าร้องขอความเป็นธรรมจากหลายหน่วยงาน รวมถึงสภาทนายความ ซึ่งทางสภาทนายความได้แต่งตั้งให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนจำคุก 7 ปี 6 เดือน กับตำรวจรายดังกล่าว
สำหรับคดีนี้ประกอบด้วย 1.คดีที่ศาลจังหวัดสกลนคร ความอาญา คดีหมายเลขดำที่ 2456/2555 หมายเลขแดงที่ 700/2556 ระหว่างนายส่งเสริม แสงฤทธิ์ และภรรยา กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ด.ต.สิทธิกุล กาติวงศ์ กับพวกรวม 6 คน ศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 พิพากษาจำคุกยืนตามศาลล่างจำคุก 7 ปี 6 เดือน 2.คดีทีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ความแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 2502/2555 คดีหมายเลขแดงที่ 171/2557 ระหว่างนายส่งเสริม แสงฤทธิ์ กับพวกรวม 4 คน โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลย เรื่อง ละเมิด
โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 4,150,000 บาท ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,100,000 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2554 (ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุละเมิด) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ กับให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสี่เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกคดีถึงที่สุด
จำเลย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ฯ เนื่องจากกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่าการอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป ไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ แต่จะทำให้ราชการเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์และค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอันเป็นภาระเงินกับเงินงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย
โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ครอบครัวนายส่งเสริม แสงฤทธิ์ ได้เข้ารับเงินเยียวยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว