‘ตำรวจมหาดไทย’ไม่มียศ รักษากฎหมายได้ดีกว่า ‘ตำรวจมียศ’ พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
“ตำรวจมหาดไทย” ไม่มียศ รักษากฎหมายได้ดีกว่า “ตำรวจมียศ”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ผู้มีอำนาจและคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย หลงเข้าใจผิด มานานว่า “ตำรวจ” หมายถึงเฉพาะข้าราชการสังกัดกรมตำรวจแต่งเครื่องแบบสีกากี หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบัน
แต่แท้จริง ตำรวจ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ตรวจ
ถือเป็น บทบาทหน้าที่ หรือ Function อย่างหนึ่ง
ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงทบวงกรมใด แต่งเครื่องแบบสีอะไร มียศเหมือน ทหารผู้มีหน้าที่ทำการรบ หรือไม่?
ถ้ากฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ ตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิด
ก็ถือว่า เป็นตำรวจ ตามความหมายนั้นด้วยกันทั้งสิ้น
ป.วิ อาญา มาตรา 2 (16) ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยให้รวมทั้งเจ้าพนักงานสรรพสามิต ศุลกากร เจ้าท่า และอื่นๆ อีกมากมายในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายซึ่งตนมีหน้าที่
ส่วนจะมีผู้คนเรียกว่า ตำรวจ หรือไม่ ไม่สำคัญ
ที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ ตำรวจรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยในอาณาบริเวณสภามาช้านาน รวมทั้ง ตำรวจศาล ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ก็ล้วนแต่เป็นข้าราชการไม่มียศ เรียกนำหน้ากัน นายนั่น นางสาวหรือนาง นี่ การทำงานของเขาก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร
ซึ่ง ในประเทศที่เจริญทั่วโลก ตำรวจส่วนใหญ่ที่อยู่ในหลายหน่วยงานก็ไม่มียศด้วยกันทั้งสิ้น เรียก Mr. Ms. หรือ Mrs.
อย่าง หัวหน้าตำรวจ นครลอนดอน หรือ London Metropolitan Commissioner ผู้มีหน้าที่บริหารงานป้องกันอาชญากรรมและต่อต้านการก่อการร้ายในเมืองหลวงประเทศอังกฤษปัจจุบัน
ก็คือ นางเครซิดา ดิกซ์ (Cressida dick)
เธอ ไม่มียศแบบทหาร และก็ไม่ได้เรียกกันอย่างโอ่อ่าว่า ผู้บัญชาการ หรือ Commander แต่อย่างใด
แต่เธอสามารถทำงานรักษากฎหมาย ภายใต้การตรวจสอบควบคุมและประเมินผลของนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้เข้มแข็งยิ่งกว่าตำรวจผู้ชายในระดับเดียวกันหลายคน
จึงได้รับการเลือกเป็น หัวหน้าตำรวจ (Police commissioner) ของเมือง ควบคุมตำรวจทั้งหญิงชาย ผู้ไม่มียศ กว่า สี่หมื่นคน ให้ทำหน้าที่รักษากฎหมายในเมืองหลวงของอังกฤษปัจจุบัน
และไม่มีใครรวมทั้งเธอคิดว่า การเรียกเป็น นาง โดยไม่มียศนำหน้าเช่นนั้น เป็นเรื่องไร้เกียรติอะไร
เพราะ “เกียรติ” ของบุคคลจะเกิดได้ก็ด้วยการยอมรับนับถือของประชาชน เมื่อข้าราชการคนนั้นได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ต่างหาก
ไม่ใช่เป็นข้าราชการแล้ว ไม่ทำหน้าที่ หรือแม้กระทั่ง มีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยสินบน!
แต่ “คิดเอาเอง” ว่าตนเป็นผู้มีเกียรติตามเครื่องแบบและเครื่องหมายที่ติดกันมากมายบนบ่าไหล่ของแต่ละคนแต่อย่างใด?
พูดโดยสรุปก็คือ ผู้รักษากฎหมายหรือ ตำรวจไม่มียศ ในประเทศไทยมีมาช้านานแล้ว
และ เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในประเทศเจริญทั่วโลก มีตำรวจสาธารณสุข ตำรวจแรงงาน ตำรวจชายฝั่ง ฯลฯ ขึ้นการบังคับบัญชากับกระทรวงทบวงกรมนั้นๆ
บางประเทศมีแม้กระทั่ง ตำรวจศาสนา และ มหาวิทยาลัย
เป็นการกระจาย อำนาจตำรวจ ให้อยู่ในทุกองค์กรตามความจำเป็นในการปฏิบัติงาน
รวมทั้งให้มี อำนาจสอบสวนความผิดตามกฎหมายในความรับผิดชอบ ของตน ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของพนักงานอัยการสำหรับคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน ด้วย
ไม่มีประเทศใดในโลกปล่อยให้งานรักษากฎหมายและการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีอาญา
ถูกผูกขาด และ รวมศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเริ่มคดี อยู่ในองค์กรเดียวเหมือนประเทศไทย!
ซำยังไร้การตรวจสอบจากภายนอก แม้กระทั่งโดยอัยการ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย!
ตำรวจไทย แทบทุกระดับเลยเกิดอาการ ป่วย เนื่องจาก อำนาจเป็นพิษ กันมากมาย
ตำรวจยศใหญ่ส่วนมาก เคลียร์ได้!
แล้วใช้อำนาจตามชั้นยศและ วินัยตำรวจแบบทหาร “ควบคุม” มิให้ตำรวจผู้น้อยปฏิบัติงานรักษากฎหมายตามหน้าที่ของตน
ส่งผลให้มี ตู้ม้า บ่อนการพนัน และแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและยาเสพติดเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย
จนทำให้ ตำรวจกระทรวงมหาดไทยทั้งหญิงและชายผู้ไม่มียศ ต้องออกเดินสายจับกุมแทนหัวหน้าตำรวจมียศผู้รับผิดชอบพื้นที่ระดับต่างๆ
ซ้ำในการปฏิบัติแต่ละครั้ง ยังไม่สามารถแจ้งหรือแม้แต่จะแพร่งพรายให้รู้ก่อนเข้าจับกุมได้!
สำหรับ พวกยศน้อย ที่มีจิตใจใฝ่ต่ำ ก็ออก เดินสาย รีดไถผู้ประกอบธุรกิจการค้าต่างๆ ให้ส่งส่วยสินบน หรือแม้กระทั่ง ยัดข้อหา, จับคนไปต่อรองเรียกค่าไถ่
มีให้เห็นกันเป็นข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน!
ญาติโยมที่กลับจากทำบุญที่วัด ถูกจับ ตรวจฉี่ บอกว่าพบสีม่วง
พระอาจารย์ได้รับการร้องขอจากโยมให้ไปช่วยเจรจาต่อรอง
จาก 40,000 เหลือ 15,000
ถือเป็น “ราคาพิเศษ” สำหรับพระอาจารย์!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2563