‘เจ้าแมกซ์’แชมป์โลกมวยไทยกลายเป็น ‘แพะ’ถูกจับขัง14 เดือน ใครรับผิดชอบ?
ช่วงนี้มีคดีอาญาร้ายแรงและสะเทือนขวัญประชาชนรวมทั้งคดีที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายเรื่อง
ตั้งแต่คดี “พี่เตี้ย” สุนัขนักกิจกรรมแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนักศึกษาและผู้คนที่รักสัตว์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ถูกตำรวจยศ ส.ต.ท. คนหนึ่ง อุ้มฆ่าอย่างทารุณ!
คดีนี้ในที่สุดพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ ได้นัดหมาย ให้ตำรวจผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวมาพบในวันที่ 28 พ.ค.63
แจ้งข้อหาหลักว่า ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะและทารุณสัตว์
น่าจะหวัง ดับกระแส ความไม่พอใจของประชาชนต่อการสอบสวนที่เป็นไปอย่างล่าช้า และ ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากได้ยินคำพูดแปลกๆ ของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งผู้รับผิดชอบและผู้ไม่ได้รับผิดชอบหลายคน!
ทั้งที่การพิสูจน์ความจริงว่าเป็นกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุ พี่เตี้ยตกรถตาย หรือใครเอาไม้ทุบหัว หรือยิงด้วยปืน 4 นัด ตามที่มีผู้คน ได้ยินเสียง ในช่วงเวลาเกิดเหตุหรือไม่ เป็นเรื่องที่แสนง่าย?
เริ่มจากถ้าตำรวจเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นคนรักสัตว์และให้การตามความจริงด้วยความบริสุทธิ์ใจที่บอกว่า เป็นอุบัติเหตุ?
ก็ควรนำตัวผู้ต้องหาพร้อม รถจักรยานยนต์ของกลาง (ได้ยึดไว้หรือไม่) ไป จำลองเหตุการณ์ ณ ที่พี่เตี้ยตกรถตาย นำไปประกอบคำให้การว่า พี่นั่งอยู่ตรงไหน ขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วเท่าใด และเหตุใดจึงได้ตกจากรถ?
และเมื่อพลัดตกลงมา ล้อหลังของจักรยานยนต์สามารถ ทับครั้งเดียวจนตาย ได้ สอดคล้องกับสภาพศพหรือซากของพี่ตามที่ปรากฏภาพถ่ายและรายงานการตรวจของสัตวแพทย์หรือไม่?
แต่การที่ผู้ต้องหาไม่ยอมไปจำลองเหตุการณ์ดังกล่าว จะมีความหมายว่าอย่างไร ผู้รับผิดชอบเองและคนทั่วไปก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก
อีกคดีหนึ่งซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างมากก็คือ กรณี อัยการสูงสุดสั่งไม่อุทธรณ์ คดีที่ศาลยกฟ้องนายพานทองแท้ ข้อหาฟอกเงิน หลังจากที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์ของอัยการผู้รับผิดชอบไปเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา
คดีนี้มีคำถามคาใจมากมาย เนื่องจากหลังการวินิจฉัย อัยการสูงสุดหรือสำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่ได้ออกมาอธิบายว่า เหตุใดทั้งอัยการ ทั้งผู้รับผิดชอบในการฟ้องและ อัยการสูงสุด จึงสั่งไม่อุทธรณ์
เนื่องจากในตอนที่อัยการผู้รับผิดชอบสั่งฟ้องคดีนั้น ย่อมต้องแน่ใจในพยานหลักฐานแล้วว่า สามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้ จึงสั่งฟ้องไปมิใช่หรือ?
และเหตุใดเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง ซ้ำด้วยเสียงก้ำกึ่ง
อัยการจึงไม่อุทธรณ์และฎีกาเพื่อให้ศาลสูงได้มีโอกาสตรวจสอบและพิจารณาให้เกิดความยุติธรรมต่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง?
ซึ่งต่อความสงสัยของประชาชนเรื่องนี้ อสส. หรือสำนักงานอัยการสูงสุด ควรออกมาอธิบายให้ผู้คนคลายความสงสัยและมั่นใจในมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการผู้รับผิดชอบทุกระดับโดยเร็วด้วย
อีกคดีหนึ่งซึ่งผู้คนสนใจไม่น้อยก็คือ กรณีที่ศาลจังหวัดระนองได้พิพากษา ยกฟ้อง “เจ้าแมกซ์ อำนาจมวยไทย” แชมป์สภามวยแห่งเอเชีย หรือ WBC เอเชีย รุ่นซูเปอร์ไลต์เวต
เจ้าแมกซ์ถูกตำรวจจังหวัดระนองกล่าวหาว่าร่วมกับขบวนการค้ายาบ้า 3,400,000 เม็ด ที่ถูกจับได้ในเขตอำเภอเมืองเมื่อต้นปี 2562 และ เสนอศาลออกหมายจับตามคำซัดทอดของผู้ต้องหาคนหนึ่ง
ซึ่งคดีนี้ หลังจากศาลจังหวัดระนองพิพากษายกฟ้องแล้ว อัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์
คดีเป็นอันถึงที่สุด
เจ้าแมกซ์ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำหลังจากถูกจองจำอยู่นานถึง 14 เดือน! เนื่องจากตำรวจได้คัดค้านการให้ประกันตัว
ทำให้ ชื่อเสียงและอนาคตที่กำลังรุ่งโรจน์ในวงการมวยและสังคมพังพินาศ!
ทันทีที่เจ้าแมกซ์ได้รับอิสรภาพ ลูกเมียและแม่พ่อที่รออยู่ได้โผเข้าไปกอดด้วยน้ำตาอาบแก้ม
พ้นจากความทุกข์ทรมานหลังจากที่ได้ช่วยกันต่อสู้และรอคอยความยุติธรรมจากศาลอยู่แสนนาน!
เจ้าแมกซ์ถูกตำรวจจังหวัดระนองเสนอ ศาลให้ออกหมายจับ ตามหลักฐานการสอบปากคำผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งปรากฏว่า ได้ให้การซัดทอดว่าเป็นเจ้าของรถที่ใช้ขนค้ายาเสพติด?
รวมทั้งชี้ภาพถ่าย ที่ตำรวจนำมาให้ดูได้อย่างถูกต้อง?
ตำรวจถือหมายไปรอจับตัวแชมป์โลกมวยไทยรุ่นซูเปอร์ไลต์เวตที่สนามบินดอนเมืองขณะกำลังจะเดินทางไปชกอุ่นเครื่องที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 6 เม.ย.62
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าแมกซ์ถูกศาลออกหมายจับ ก็มาจากการที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน 7030 ชัยภูมิ คันที่ขนค้ายาเสพติดของกลางนั้น
แต่ในความเป็นจริง เจ้าแมกซ์ได้ขายรถคันนี้ให้นายศักดิ์ไปในราคา 50,000 บาทตั้งแต่ปี 2558
โดยเซ็น “โอนลอย” ให้ไว้
ต่อมานายศักดิ์ได้ครอบครองรถคันนี้อยู่หลายปี และต่อมาได้ขายต่อให้ ธนพร ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งถูกจับกุมก่อนหน้านั้นเมื่อ 13 พ.ย.2561 และธนพรก็ไม่ได้โอนเป็นชื่อของตัวเอง
ตามกฎหมาย รถยนต์คันนี้จึงยังเป็นของเจ้าแมกซ์
แต่ถ้าตำรวจได้ ออกหมายเรียก เจ้าแมกซ์มาสอบปากคำแต่แรกว่ารถยนต์คันที่ขนค้ายาเสพติดเป็นของตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ มีที่มาที่ไปอย่างไร?
ก็จะได้ความจริงเรื่องการที่เจ้าแมกซ์เคยเป็นเจ้าของและได้ขายไปแต่เมื่อใด โดยได้เซ็นโอนลอยให้ไว้กับใครอย่างไร?
หรือแม้กระทั่งตำรวจรีบร้อน หวังขยายผลตามคำสั่งของตำรวจชั้นนายพล ที่ต้องการสร้างผลงานการจับกุมยาบ้ารายใหญ่ ได้ผู้ต้องหาหลายคน!
จึงมั่วๆ นำหลักฐานด้านเดียวจากผู้ต้องหาคนหนึ่งไปเสนอศาลให้ออกหมายจับ
และแม้กระทั่งเมื่อจับตัวเจ้าแมกซ์มาได้แล้ว เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เขาได้ชี้แจงและพยายามแสดงความบริสุทธิ์ของตน
ตรวจสอบอย่างรอบคอบและให้ครบทุกด้านก่อนสรุปสำนวนเสนอความเห็นให้อัยการสั่งฟ้อง?
หรือ ยึดหลักในทางปฏิบัติ กันว่า เมื่อได้เสนอศาลออกหมายจับและจับตัวผู้ต้องหาคนใดมาได้
ไม่ว่าสุดท้าย ความจริงจะปรากฏเช่นไร และบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่? ก็ต้องส่งสำนวนการสอบสวนสรุปเสนอไปให้อัยการสั่งฟ้องให้ได้!
อัยการเอง เมื่อรับสำนวนเสนอความสั่งฟ้องจากตำรวจแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นคดียาเสพติดรายใหญ่ระดับยาบ้าล้านเม็ด!
เรื่องการสั่งไม่ฟ้องเพื่อ “ให้ความยุติธรรม” กับผู้ต้องหานั้น นับเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยากอย่างยิ่ง!
เนื่องจากพยานหลักฐานที่ตำรวจสอบพิมพ์ไว้และปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน โดยเฉพาะคำให้การของผู้กล่าวหา พยาน หรือแม้กระทั่งผู้ต้องหาทุกคน
อัยการไทยไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถรู้ได้ว่า ประโยคหรือถ้อยคำใด “ตรงกับความเป็นจริง” และ “ครบถ้วน” ตามที่แต่ละคนพูด แม้กระทั่ง “เป็นความเท็จ” หรือไม่?
ฉะนั้น การสั่งฟ้องคดีไปเพื่อให้ศาลได้พิจารณาในการเบิกความ
จึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับตนเองที่สุด!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2563