ตำรวจจับผู้ต้องหาเรียกค่าไถ่นายกฯ จะจัดการให้สิ้นซากอย่างไร?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ตำรวจจับผู้ต้องหาเรียกค่าไถ่นายกฯ จะจัดการให้สิ้นซากอย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ในขณะที่ชาวโลกและชาวไทยกำลังตื่นตระหนกกับปัญหาโรคติดต่อที่ทำให้ถึงตายและยังไม่มีวัคซีนป้องกันคือ โคโรนาไวรัส หรือ COVID-19
ซึ่งขณะนี้ได้แพร่ระบาดไปกว่า 120 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อเฉพาะที่มีการรายงานเกือบ สองแสนคน
เสียชีวิตไปแล้ว เกือบ 6,000
และมีแนวโน้มว่าในเวลาอันใกล้ ผู้ติดเชื้อทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก
รวมทั้งประเทศไทยก็คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่การแพร่ระบาดจะเข้าสู่ ระยะ 3 คือแผ่ขยายไปในวงกว้าง และไม่รู้ที่มาแห่งสาเหตุการติดเชื้อของแต่ละคน
ในขณะนี้ หน้ากากอนามัย จึงได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันของประชาชน
แต่ความที่การบริหารจัดการของรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหามีไม่พอใช้ แม้กระทั่งสำหรับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในระบบสาธารณสุข
อันที่จริงประชาชนทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย ในการดำรงชีวิตประจำวันปกติ แต่อย่างใด
คนที่จำเป็นก็คือผู้ต้องเข้าไปในที่ซึ่งมีคนจำนวนมากและอยู่ใกล้ชิด รวมทั้งผู้ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อการป้องกันหรือรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ
ฉะนั้น การที่รัฐแจกหน้ากากให้ประชาชนทั่วไป หวังให้ทั่วถึง 67 ล้านคนอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในขณะที่ปริมาณการผลิตในประเทศมีจำกัดเพียงวันละหนึ่งล้านสองแสนชิ้น
จึงก่อให้เกิดปัญหาหน้ากากไม่พอใช้สำหรับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงเมื่อการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3
ระหว่างที่ภัยจาก COVIT-19 กำลังแพร่ระบาดในหมู่ผู้คนส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมโลกและสังคมไทยอย่างร้ายแรงนี้
ก็ยังมีตำรวจพวกหนึ่งที่ไม่ได้สนใจต่อความทุกข์ยากของประชาชนไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น!
เช่นตำรวจผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ ชั้นนายพล ก็ยังคง รับส่วยสินบน จากผู้ใต้บังคับบัญชาที่เก็บรวบรวมมาจาก บ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมาย
ซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคร้ายเปิดกันมากมายในแทบทุกพื้นที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง!
ส่วนตำรวจผู้น้อยที่ไม่มีใครส่งส่วยให้นั้น หนทางหากินนอกกฎหมายย่อมแตกต่างออกไป
ส่วนใหญ่โดยเฉพาะฝ่ายสืบสวน มักใช้วิธี ยัดข้อหา หรือจับผู้กระทำอาญามาเรียกค่าไถ่
มีเรื่องราวให้เห็นและเป็นข่าวได้แทบไม่เว้นแต่ละวัน!
เมื่อ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา “ร.ต.อ.รอง สวป.พัทยา ได้ร่วมกับ ตำรวจอาสา รวม 5 คน
ล่อซื้อยาเสพติดจากประชาชนชายหนุ่มอายุ 22 ปี ได้ยาบ้า 200 เม็ด
แจ้งข้อหา จับพาตัวไปกักขังไว้ในสถานที่ที่ตำรวจรวมทั้ง สื่อ เรียกกันว่า เซฟเฮาส์
แต่ประชาชนเรียกกันว่า บ้านผีสิง!
ที่ พ.ร.บ.ยาเสพติด มาตรา 15 “เปิดโอกาส” ให้ตำรวจผู้ได้รับการแต่งตั้งจาก “เลขาธิการ ป.ป.ส.” ให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจจับตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดในความครอบครองไปควบคุมไว้ เพื่อการขยายผลนำไปสู่การจับกุมรายใหญ่ได้ 3 วัน
โดยยังไม่ต้องส่งให้พนักงานสอบสวนทันทีเหมือนกรณีการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายที่มีโทษอาญาทั่วไป
ระหว่างถูกขังใน บ้านผีสิง ซึ่งหลายอำเภอและจังหวัดไม่ได้ใช้สถานที่ราชการสำหรับการควบคุมตามความจำเป็นดังกล่าว
แต่กลับไป เช่าบ้าน ดัดแปลงเป็นห้องขังผู้ต้องหากันก็มี!
ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ชายวัย 22 ดังกล่าวได้ถูกปลดสร้อยทองคำหนัก 1 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ราคาสามล้านจากคอไป
ตามด้วยการขอ “เงินค่าไถ่” เพื่อจะไม่ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอีก 3 แสนบาท
หลังได้รับอิสรภาพ ชายหนุ่มดังกล่าวรู้สึกเสียดายพระมีราคา จึงฮึดสู้!
นำไปสู่การร้องทุกข์เปิดโปงให้ดำเนินคดีและออกหมายจับในที่สุด
จับตัว ร.ต.อ.และผู้ร่วมแก๊งอีกสามสี่คนได้ที่หน้าสถานีตำรวจพัทยา!
ซึ่งไม่มีใครทราบว่า ทั้งตำรวจและอาสาแก๊งนี้ มีพฤติการณ์จับผู้ต้องหามาเรียกค่าไถ่เป็นเวลานานแล้วเท่าใด?
จับไป กี่ราย ได้เงินไปรวมทั้งสิ้นมากน้อยเพียงใด?
และเหตุใด หัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งมีอยู่มากมาย แม้กระทั่งจเรตำรวจ
จึงไม่ระแคะระคาย หรือรู้เรื่องอะไรเหล่านี้บ้างเลย!
อีกราย ในวันที่ 10 มี.ค. นางพิมพ์ อายุ 22 ปี ภรรยาเจ้าของร้านอาหารใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ผบช.ตำรวจภาค 5 ว่า
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เวลาบ่ายโมง ตนพร้อมบุตรชายหนึ่งขวบ 11 เดือน ได้เดินทางไปร่วมงานแต่งงานญาติที่ ต.แม่สาว อ.แม่อาย ขากลับได้อาศัยรถคนในหมู่บ้านมา
ระหว่างทางได้มีตำรวจหลายคนขอตรวจปัสสาวะและตรวจบัตรประชาชน แต่ตนไม่ได้พกมา จึงถูกพาขึ้นรถพร้อมคนในหมู่บ้านอีก 2 คนและเด็กสาวอีก 1 ขึ้นไปในป่าบนดอย!
เมื่อตนโวยวาย ก็นำกลับมาควบคุมไว้ที่ ป้อมตำรวจแม่สาว
แจ้งข้อกล่าวหาว่านำพาคนต่างด้าวและให้ที่ซุกซ่อน ขอ 1 แสนบาท แลกอิสรภาพ
และพอต่อมาเมื่อรู้ว่ามีเงิน ก็ขอเพิ่มเป็น 5 แสน!
นางพิมพ์กดเงินไปให้ครั้งแรก 8 หมื่น หลังจากนั้นก็พาไปให้โอนอีก 6 หมื่น แต่ก็ไม่ครบตามต้องการ
ต่อมามีผู้หญิงมีอายุคนหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า เป็นนายหน้า มาเคลียร์?
อาสาออกเงินที่ขาดอยู่ 1.6 แสน ให้ก่อน จึงถูกปล่อยตัวเมื่อ เวลา 2 ทุ่ม
ต่อมาสามีถูกหญิงคนดังกล่าวทวงถามเรื่องเงิน ก็ได้โอน 1.6 แสนนั้นให้ไป
สรุปว่า ได้จ่าย ค่าไถ่ ให้ตำรวจชุดนี้รวมทั้งสิ้น 300,000 บาท
ต่อมานายฐานะพล สามี ได้นำเรื่องราวมาลงในโซเชียล และพากันไปร้องเรียนที่ตำรวจภูธรภาค 5
นำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีและเป็นข่าวออกสื่อ ทำให้ ผบก.จว.ได้มีคำสั่งให้ ร.ต.อ.และตำรวจผู้เกี่ยวข้อง 5 คน “ออกจากราชการไว้ก่อน”
ต่อปรากฏการณ์ความเลวร้ายใน ระบบตำรวจ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศซ้ำซากมากมาย และได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างแสนสาหัสเช่นนี้
อยากถามต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า
ท่านไม่คิดจะจัดการอย่างเด็ดขาด และ “ดำเนินการปฏิรูป” อย่างจริงจัง
ตามที่ท่านได้แถลงหรือพูดต่อประชาชนไว้หลังยึดอำนาจเมื่อเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาบ้างหรืออย่างไร?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 16 มี.ค. 2563