งานหน้าตร.ไทยจับคนตีหัว’จ่านิว’ไม่ได้ชงอัยการให้งดสอบสวนอ้างพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ใดเนื่องจากกล้องวงจรปิดไม่เห็นหน้าคนร้ายชัดเจนเพียงพอ

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563   นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักกิจกรรมการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความคืบหน้าคดีที่ถูกคนร้ายตีหัวมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ทางบ้านผมตะละแม่ หนึ่ง ได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้าคดีที่ผมถูกลอบทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2019 จากสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ชี้แจงมาดังนี้

“คดีนี้การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการมีความเห็น “เห็นควรให้งดการสอบสวน” เนื่องจากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ใด เนื่องจากสภาพกล้องวงจรปิดไม่เห็นหน้าคนร้ายชัดเจนเพียงพอในการออกหมายจับและหลักฐานการไล่กล้องไม่สามารถทราบได้ว่าคนร้ายมีที่อยู่หรือหลบหนีอยู่ที่ได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน แล้วมีหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า ผู้ใดกระทำผิดก็จะทำการออกหมายจับคนร้ายและดำเนินคดีต่อไป”

จะจับได้เมื่อไหร่?

จะสืบสวนสอบสวนอีกทีเมื่อไหร่?

คนร้ายมีสี?

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

หลังจากมีการเผยแพร่เอกสารจากทางพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี มีเนื้อหากล่าวถึงพนักงานอัยการคดีอาญามีนบุรี มีคำสั่งว่าให้งดการสอบสวน ในคดีมีคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ 4 คน รุมทำร้าย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จนได้รับบาดเจ็บ ที่ปากซอยรามอินทรา 109 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 28 มิ.ย. 2562

 

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในข้อเท็จจริงเกิดคดีอาญาขึ้น คนที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน เอาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถ้ามีคดีอาญาเกิดขึ้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รู้ตัวผู้กระทำความผิดและไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด (สำนวนมุมดำ) ในประเด็นที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดนั้น กรณีของจ่านิวถูกทำร้าย ได้ไปแจ้งความกับตำรวจ หน้าที่สืบสวนคนทำร้ายย่อมต้องเป็นของตำรวจที่จะต้องไปหาตัวคนทำมาให้ได้ แต่กฎหมายยังระบุอีกว่า หากมีการสืบสวนสอบสวนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้าย สำนวนจะไม่ได้อยู่กับตำรวจไปตลอด

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 บัญญัติไว้ว่า ในสำนวนที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำ ถ้าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายก็ให้เสนองดการสอบสวนไปยังอัยการ ถ้าอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่ได้พยายามเต็มที่แล้ว และยังไม่มีจุดเชื่อมต่อในการหาคนร้าย อัยการก็จะมีคำสั่งให้งดการสอบสวน ซึ่งก็คือหยุดการสอบสวนไว้ชั่วคราว ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้เป็นการมีคำสั่งว่าใครผิดหรือใครถูก แต่ภายในอายุความตามกฎหมาย ถ้ารู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ หรือมีผู้แจ้งเบาะแส ตำรวจก็จะต้องหยิบยกสำนวนขึ้นมาทำ กลายเป็นสำนวนรู้ตัวผู้กระทำผิด

 

“โดยในสำนวนรู้ตัวผู้กระทำผิดก็จะมี 2 กรณี คือรู้ตัวแต่ยังไม่สามารถตามเอาตัวมาได้อย่างคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ก็จะมีการส่งสำนวนมาให้อัยการสั่งฟ้องและออกหมายจับ ตำรวจก็มีหน้าที่ไปตามจับกุมตัวในอายุความ ส่วนอย่างที่สองคือ คดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดและไปตามจับกุมตัวมาได้ จะเห็นอย่างคดี นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือกอล์ฟ ฆ่าชิงทอง ที่เรารู้ตัวคนร้ายก็สามารถทำสำนวนตามปกติ”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 บัญญัติไว้ว่าเมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้ แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ

ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าสามปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน

ถ้าพนักงานอัยการสั่งให้งด หรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น

About The Author