ประชาชน ตำรวจ ทหาร คลั่ง เพราะกระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้จริง-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ประชาชน ตำรวจ ทหาร คลั่ง เพราะกระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้จริง
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี ทหารประจำกองพันกระสุนที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงทหารยศพันเอกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตายพร้อมแม่ยายที่โต๊ะรับแขกในบ้านพักส่วนตัวเขต อ.เมือง จว.นครราชสีมา เหตุเกิดช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.พ. เวลาประมาณ 15.30 น.
หลังจากนั้น ได้ขับรถกลับไปยังหน่วยทหาร ยิงเวรรักษาการณ์ตายพร้อมชิงอาวุธสงคราม HK 33 กระสุน 800 นัด และระเบิดอีกจำนวนหนึ่งขนใส่รถฮัมวี่ ขับมาตามทางเพื่อไปที่ห้างเทอมินอล 21
ระหว่างนั้นก็กราดยิงรถตำรวจสายตรวจและประชาชนตามทางบาดเจ็บและเสียชีวิตไปนับสิบ
สุดท้ายได้ทิ้งรถไว้หน้าห้าง เข้าไปหลบซ่อนอยู่ข้างในพร้อมจับผู้คนจำนวนหนึ่งไว้เป็นตัวประกัน
มีการโพสต์เฟซบุ๊กและ “แช้ตไลน์ระบายความในใจ” ให้กลุ่มเพื่อนได้รับรู้และสื่อสารกันเป็นระยะๆ
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น 03.17 น. ได้เกิดการปะทะกับตำรวจจนทำให้ ร.ต.อ.ตระกูล ธาอาสา ผบ.หมวด บก.สปพ. เสียชีวิต
และในที่สุด ตนเองได้ถูกยิงตายในเวลา 08.30 น.
รวมระยะเวลาก่อเหตุร้ายดังกล่าวถึง 18 ชั่วโมง!
ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 30 คน บาดเจ็บอีก กว่า 58
นับเป็นอาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สะเทือนขวัญคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่ง
สื่อทุกแขนงเสนอข่าวกันว่า เป็นเรื่องของ ทหารคลั่ง ชิงอาวุธปืนสงครามของทางราชการออกมาก่อเหตุร้ายนอกค่าย
และส่วนใหญ่เน้นความสนใจกันแต่เรื่อง “ฮีโร่” ว่าใคร หรือหน่วยใด เป็นผู้กล้าที่บุกเข้าไปในห้องเย็นชั้นล่างของห้างยิงจ่าทหารจนตายดังกล่าว
เป็นตำรวจยศ “นายสิบ” “จ่าดาบ” “นายร้อย “นายพัน” หรือแม้กระทั่ง “นายพล” คนใด?
แต่ สาเหตุของอาชญากรรมร้ายที่ทำให้ จ.ส.อ.จักรพันธ์ เกิดอาการ คลั่ง ดังกล่าว ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงหรือมีใครให้ความสนใจ เพื่อนำไปเป็น บทเรียน และ การวิเคราะห์ เพื่อหาทาง แก้ไข รวมทั้ง ป้องกัน อย่างแท้จริงแต่อย่างใด?
นายกรัฐมนตรีตอบคำถามนักข่าวในประเด็นนี้ว่า เกิดจากปัญหาส่วนตัว น่าจะมาจาก เรื่องเงิน ในการขายที่ดินและบ้าน
ซึ่ง ได้มีการทวงถามกันมาสามวันแล้ว ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงเช่นนี้
ปัญหาประชาชนคลั่งและก่ออาชญากรรมหรือความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการจี้ปล้น การทำร้าย ฆ่าผู้อื่น หรือฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่ เกิดขึ้นมากมายอย่างผิดปกติ ในสังคมไทยปัจจุบัน
แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผู้มีอำนาจรวมทั้งสื่อก็มักให้ความสนใจกันแต่การสืบจับผู้กระทำผิดกันเป็นหลัก
และเมื่อจับตัวได้ เหตุการณ์ร้ายส่วนใหญ่ก็มักถูกผู้คนลืมเลือนไปในเวลาอันรวดเร็ว!
แต่ปัญหาสาเหตุแท้จริง ทั้งที่ผู้ก่ออาชญากรรมในหลายคดี ก็ไม่ได้เป็นคนมีจิตใจวิปริตหรือวิปลาสอะไรนั้น มักไม่ถูกพูดถึง?
โดยเฉพาะจาก ตำรวจฝ่ายสอบสวน ผู้มีหน้าที่ค้นหาความจริงและเหตุจูงใจในการก่ออาชญากรรมนั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขป้องกัน?
ซ้ำหลายกรณี ยังมีข้อมูลซึ่งทำให้หลายคนประหลาดใจว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนมีจิตใจที่ดี เป็นที่ชื่นชมของคนที่รู้จักหรือเพื่อนร่วมงานและแม้กระทั่งเพื่อนบ้านอีกด้วย
เช่น กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนประถมในจังหวัดสิงห์บุรีที่เป็นคนหนุ่มมีอนาคต กลายเป็นโจรชิงทรัพย์และฆ่าคนตายไปได้อย่างไร?
ความต้องการในการใช้เงิน อย่างฉับพลัน นั้น มีสาเหตุมาจากกู้หนี้สหกรณ์ หรือว่านอกระบบ หรือแม้กระทั่งเสียการพนันจากบ่อนไหน รูปแบบใดหรือไม่?
จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่มีตำรวจคนใดชี้แจงหรืออธิบายให้เกิดความกระจ่างแต่อย่างใด?
หรืออย่างกรณี พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดชัยนาทและรองจเรตำรวจ ใช้อาวุธปืนพกกราดยิงทนายและภรรยาพร้อมเสมียนตายคาหน้าบัลลังก์ศาลจังหวัดจันทบุรี
ก็ได้รับการพูดถึงว่าเป็นคนดีมีจิตใจเป็นปกติ อีกทั้งได้กระทำไปโดยมุ่งหวังให้สังคมได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกัน
ไม่ได้เกิดจากอาการ คลุ้มคลั่ง ด้วยเหตุ จิตใจวิปริต ตามที่สื่อส่วนใหญ่ใช้เป็นข่าวพาดหัวแม้แต่น้อย
สำหรับเหตุการณ์กรณีของ จ.ส.อ.จักรพันธ์นี้ได้สะท้อนปัญหาสำคัญที่ผู้รับผิดชอบต้องนำไปพูดคุยหรือแม้กระทั่งปฏิรูปอยู่สองสามเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษาอาวุธสงครามในหน่วยทหารและตำรวจ จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย ไม่เปิดช่องให้ใครหยิบฉวย ขโมย หรือแม้กระทั่งปล้นชิงเอาไปใช้ก่ออาชญากรรมได้
นอกจากนั้น ก็ต้องพิจารณาปัญหาความพร้อมในการระงับเหตุร้ายโดยตำรวจผู้มีหน้าที่ทุกระดับ
ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าสถานีที่มีสายตรวจคอยตรวจตราป้องกันอาชญากรรมและระงับเหตุต่างๆ ในพื้นที่
หรือกองบังคับการตำรวจจังหวัดซึ่งมี หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ในบังคับบัญชาอยู่หนึ่งกองร้อย พร้อมอาวุธสงครามที่จำเป็นครบครัน
รวมทั้งผู้ว่าฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทุกหน่วยที่สามารถสั่งการหรือประสานงานได้ตลอดเวลา
รัฐได้จัดและตรวจสอบให้หน่วยและผู้ปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัดเหล่านี้มี ศักยภาพ และ ความพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจ มีขวัญและกำลังใจในการใช้อาวุธและอุปกรณ์ระงับเหตุร้ายให้สงบลงในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ขยายสร้างความเสียหายไปในวงกว้าง มากน้อยเพียงใด?
นอกจากนั้น ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับกรณีนี้ที่ต้องพิจารณาก็คือ
ปัญหา ระบบการปกครอง และ มาตรฐานความยุติธรรมทางอาญาและวินัย ในหน่วยทหารทุกกองทัพ
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเกิดปัญหาการกระทำผิดอาญาหรือวินัยของผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ทั้งหน่วยทหารและตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในลักษณะใด
การที่ทหารหรือตำรวจที่เรียกกันว่า “ชั้นประทวน”
จะร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีไม่ว่าอาญา หรือวินัยตำรวจทหารผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะไปที่หน่วยงานหรือองค์กรอิสระและไม่อิสระอะไร?
นับเป็นเรื่องที่หวังผลจะทำให้ได้รับความยุติธรรมนั้น ยากอย่างยิ่ง!
ปัจจัยทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย หรือสิ่งแวดล้อมในองค์กร ล้วนแต่ไม่เอื้อให้แสวงหาความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง
ซ้ำยังจะทำตนเองให้ได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นอีกด้วย!
การไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ก็มักเก็บความคับแค้นใจไว้ หรือหากหมดความอดทน ก็อาจแสดงออกด้วยการทำร้ายหรือฆ่าผู้ที่ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นด้วยอาวุธมีดหรือปืนเท่าที่จะสามารถหาได้
หลายคนที่จิตใจอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้เป็นหญิง ก็ใช้วิธีฆ่าตัวตายให้พ้นจากความอยุติธรรมไป
บางคนก็อาจไปปีนเสาไฟ หรือเสาโทรศัพท์หน้าศาลากลาง หรือสถานที่ราชการสำคัญต่างๆ เพื่อจะบอกให้ผู้คนรู้และมาดูมาช่วยเหลือ
แต่สำหรับคนเป็นตำรวจ ทหาร วิธีการแสวงหาความยุติธรรมจะแตกต่างออกไป
และ การยิงผู้บังคับบัญชา เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งใช้ในการ แสวงหาความยุติธรรม เท่าที่พวกเขาจะคิดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตำรวจ เรื่องการ “ถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้าย” ทำให้เจ้าตัวและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส รวมทั้งการกดขี่ในกรณีต่างๆ ตามชั้นยศและระบบวินัยแบบทหาร
ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถแสวงหาความยุติธรรมด้วยวิธีอื่นได้!.