วงสัมมนาจี้รัฐเร่งออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานอุ้มหาย แนะหากมีการตรวจค้นหรือจับกุมต้องรายงานเข้าศูนย์วิทยุเป็นหลักฐานไว้ทันทีทุกครั้ง
เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี มีการจัดสัมมนา เรื่อง “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย” จัดโดย 6องค์กร ประกอบด้วย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และ Innocent International Thailand (IIT)
ในวงสัมมนามีผู้สนใจเข้าร่วมงาน เกือบสองร้อยคน ทุกคนให้ความสำคัญว่าจะต้องแก้ไข ป.วิอาญาให้มีกลไกในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนรวมทั้งถึงเวลาที่จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาอีกและหนึ่งฉบับเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพราะในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่มีขั้นตอนดำเนินการควบคุมตัวผู้กระทำผิด และป้องกันการได้มาซึ่งคำรับสารภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี อัยการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวย้ำว่า การซ้อมทรมาน มีได้ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ที่มักจะมีคำพูดและการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศทันทีที่มีการจับกุม จะต้องพาตัวไปสถานีตำรวจ และแจ้งให้อัยการทราบ ทำให้ไไม่มีโอกาสทรมาน หรือการทำร้าย ไม่มีการบังคับเพื่อให้ได้พยานหลักฐาน และตามหลักสากล การที่อัยการจะสั่งฟ้องใคร ต้องมีพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อการสั่งลงโทษได้ มีหลักฐานที่หนักแน่นพอ เพื่อไม่ให้ศาลยกฟ้องแล้วจะไม่สามารถฟ้องผู้กระทำผิดได้อีก ดังนั้นการฟ้องช้า ดีกว่าดีกว่าฟ้องไปแล้วยกฟ้องแล้วปล่อยคนผิดให้ลอยนวล กล่าวคือ “ปล่อยคนผิด ๑๐ คน ดีกว่าฟ้องคนดี ๑ คน “ ดังนั้นในต่างประเทศผู้สั่งฟ้องต้องเป็นอัยการเท่านั้น และรับทราบกระบวนการสืบสวน สอบสวนของพนักงานสอบสวนตั้งแต่ต้น
นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสริภาพของประขาขนและอดีตกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตามหลักกฎหมายธรรมชาติ ทุนคนเกิดมามีสิทธิ เสมอภาคกัน และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิ่งนี้ติดตัวกันมาแต่กำเนิด ดังนั้นรัฐต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคม ซึ่งมีกฎหมาย ๒ ประเภท คือ กฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ ประกอบด้วยกติการะหว่างประเทศ ICCPR อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมาน อนุสัญญาป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นหลักนิติรัฐและนิติธรรม ผ่านกลไกฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ศาล ที่เป็นตุลาการ ที่ทำหน้าที่คนกลาง และองค์กรฝ่ายบริหาร เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ใหญ่ที่สุด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึง อัยการสูงสุด
ทำไมต้องมีกฎหมายป้องการทรมานและกฎหมายป้องการบังคับให้คนหาย คำตอบคือ
- เป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญา ทั้ง ๒ ฉบับ
- การทรมานและการทำให้สูญหาย เป็นการกระทำความผิดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่
ที่บังคับให้สูญหายและกระทำการทรมานต่อผู้อื่น แม้สังคมปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมาก แต่ยังมีกรณีการกระทำการปฏิบัติโดยมิชอบ จับกุมโดยมิชอบอ้างว่าปล่อยตัวไปแล้วแต่ประชาชนคนนั้นไม่ได้กลับบ้าน แล้วไม่ทราบว่าไปไหน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากในจังหวัดชายแดน
รัฐบาล โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงได้จัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมก็มีร่างกฎหมายขึ้นเสนอ เพื่อผลักดันให้สภามีการพิจารณาด้วยเช่นกัน ประเด็นข้อห่วงใย อาทิ จำนวนวันที่ให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัว การดำเนินการระหว่างควบคุมตัว และปัจจุบันกฎหมายอาญาไม่มีข้อหาเกี่ยวกับการอุ้มหาย และการทรมาน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม การทรมานอาจจะเกิดได้กับทุกคนและคนใกล้ชิด โดยจับกุมไปแล้วก็บังคับให้รับสารภาพ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น การหยดน้ำใส่หัว หยดเล็ก ๆ ทำเป็นเวลานาน ต่อเนื่อง ก็ก่อให้เกิดการทรมาณ
ในการจับกุมนายอิสะมาแอ เต๊ะไปค่ายทหารเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา ถูกขังอยู่ในห้องทั้งวันไม่ได้ญาติเข้าเยี่ยม หยดน้ำใส่บนศีรษะ เอาขวดน้ำตีหัว ทำไปเรื่อยอย่างต่อเนื่อง นำตัวผูกไว้ใต้เก้าอี้ เจ้าหน้าที่นั่งข้างบน เจ้าหน้าที่มัดมือไว้ เอาสายไฟมาจี้ที่ฝ่าเท้า ประมาณ ๒-๓ นาที สลับไปเรื่อย อยู่ในค่ายทหาร ๙ วัน มีนักศึกษาและทนายความไปเรียกร้องให้ปล่อยตัว ต่อมามีการเยี่ยวยาเป็นเงินโดยคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกดำเนินคดี ดังนั้น จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและบังคับให้สูญหาย
สำหรับกรณีของนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร ลูกชายถูกควบคุมตัวไปทรมาน ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.๖ ีตำรวจปราจีนบุรีจับตัวไป กล่าวหาว่า ชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำ ลูกชายปฏิเสธเพราะไม่ได้กระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่ใช้ถุงขยะสีดำครอบหัวรัดไว้ที่คอ ไม่ให้มีอากาศหายใจ เมื่อขาดอากาศลูกชายชักกระตุก ดิ้นสุดแรงเกิดและกัดถุงเพื่อให้มีอากาศ เจ้าหน้าที่ใช้ถุงดำใบใหม่มาครอบหัว ลูกชายทนไม่ได้จึงยอมรับว่ากระทำความผิด เป็นอุบายต้องการได้เจอคนภายนอกและจะได้ขอความช่วยเหลือ เมื่อตำรวจรู้ว่าถูกหลอก จึงนำไปตรวจฉี่เพื่อหาสารเสพติด ชาวบ้านช่วยกัน้แพร่ข่าว จนต้องปล่อยตัว ต่อมาจับผู้กระทำความผิดตัวจริงได้ นายสมศักดิ์จึงทำการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการทรมาน
“เมื่อแจ้งความร้องทุกข์และกล่าวโทษตำรวจแล้วต้องส่งเรื่องไปที่ ปปช.กับ ปปท. ใช้เวลาต่อสู้ขอความเป็นธรรมอยู่ ๘ ปี จนลูกชายเกิดอาการซึมเศร้า จึงนำไปตรวจ ปรากฏว่าเป็นโรค PSD นับเวลาทั้งหมด ๑๐ ปี ที่ลูกไม่ได้เรียน ได้ร้องเรียนไปตามหน่วยงานต่าง ๆ มากมายเพื่อขอความเป็นธรรม แต่ไร้ผล คนในครอบครัวถูกกระทำ ๑ คน ส่งผลกระทบทั้งบ้าน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย”….นายสมศักดิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่ท่าม่วง กาญจนบุรี นายกัมพล เสือดาว ลุงของนายสุรัช เผือกพันธ์ด่อน ร้องเรียนว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบ มารุมทำร้ายหลานของตนอ้างว่ามียาเสพติด เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ๔ เดือน ยังไม่มีความคืบหน้า สภาพของนายสุรัช ขณะนี้ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดในลักษณะนี้ มักไม่ถูกลงโทษ ทำให้ย่ามใจ กระทำความผิดซ้ำอีก
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหานี้มีความสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแท้จริง การใช้อำนาจทั้งหลายต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย การทำให้บุคคลสูญหายซึ่งแท้จริงคือฆาตกรรมอำพราง และการทำร้ายร่างกายต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น
ต่างประเทศมองว่ากระบวนการยุติธรรมอย่างบ้านเรานั้นป่าเถื่อน หลักเรื่องให้สันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์คดีถึงที่สุด หลักการนี้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของไทย แต่เจ้าพนักงานส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในกระบวนการ ดังนั้น ผู้ถูกจับกุมเมื่อถูกจับเป็นคดีเมื่อใดก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนทำผิดไว้ก่อน ซึ่งส่วนมากมักเป็นคนยากจน
ในประเทศที่เจริญ ผู้ถูกจับกุม จะได้รับการคุ้มครองอย่างดียิ่งกว่าก่อนจับ เรียกว่า “พระเจ้าคุ้มครอง” เลยทีเดียว จะไม่ปล่อยให้มีการกระทำละเมิดใดๆ เป็นอันขาด แต่ประเทศไทย ส่วนใหญ่คนถูกจับไม่ทราบว่าคนจับเป็นใคร เป็นตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบก็มากมาย การบังคับให้คนสูญหายหรือแท้จริงคือ “ฆาตกรรมอำพราง” สามารถกระทำได้โดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เพราะต้องมีคน มีพาหนะ รวมทั้งอำนาจตามกฎหมาย เริ่มจากการมีอำนาจขอตรวจค้นและจับกุมควบคุมตัว เป็นเบื้องต้น นอกจากนั้น ก็ต้องมีอำนาจสอบสวนหรือควบคุมการสอบสวนให้สามารถทำลายพยานหลักฐานได้ด้วย
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายดังกล่าว และต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันเป็นการเปิดช่องให้เจ้าพนักงานกระทำได้ง่ายด้วย คือ พ.ร.บ. ยาเสพติด ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงาน ปส.หรือแท้จริงก็คือตำรวจ ควบคุมตัวไว้ได้ ๓ วัน เพื่อขยายผล โดยไม่ต้องส่งพนักงานสอบสวน หลายแห่งไม่ได้นำไปควบคุมไว้ที่ทำการของรัฐ แต่ไปเช่าบ้านเป็นเซฟเฮ้าส์หรือ “บ้านผีสิง” เพื่อสะดวกแก่การซ้อมทรมาณก็มี รัฐโดยเลขาธิการ ปปส.ต้องแก้ไขยกเลิก หรือถ้าเห็นว่าจำเป็น ก็ต้องกำหนดระเบียบการปฏิบัติและวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดให้ได้รับการแก้ปัญหาและความเป็นธรรม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ เรามีกรอบการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีความพยายามที่จะทำให้สังคมมีสิทธิ เสรีภาพ มีการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ขบวนการทางสังคมที่เป็นธรรม
ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี หรือต่างจังหวัด ไม่มีกลไกรับเรื่องที่ชาวบ้านคาดหวังได้ เบื้องต้นไปร้องกับสื่อมวลชน เพราะมองเห็นว่าจะได้สื่อสารสังคม เงื่อนไขที่สำคัญในการทำงาน ….ผู้เสียหายส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจ คนใกล้ชิดไม่ทราบว่าสามีถูกกระทำการทรมานอย่างไร เราต้องการสร้างกลไกการช่วยเหลือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เราพึ่งพาหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข หรือหน่วยงานยุติธรรม เพื่อให้ตนได้ความเป็นธรรม การผลักดันกฎหมายเหล่านี้
เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งสังคมในวงกว้างขวางออกไป การจดบันทึกเหตุการณ์ช่วยให้เรามีข้อมูลประกอบการผลักดันกฎหมาย ปัจจุบันมีการกระทำการทรมานจากเจ้าหน้าที่มากพอสมควร แต่ยังไม่มีตัวเลขจากการอุ้มหายมากพอ มีความพยายามของหน่วยงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเสนอร่างกฎหมายนี้ และที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นการผลักดันอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากองค์กรระหว่างประเทศ นำเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย มารวมในกฎหมายฉบับเดียว โดยยึดหลักการเพื่อให้มีกฎหมายจากอนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับเป็นหลัก โดยมีสาระสำคัญของกฎหมายตั้งแต่ กระบวนการที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัว หรือถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการต่าง ๆ ให้ผู้นั้นให้ได้สิทธิตามกฎหมาย การทรมานไม่จำเป็นต้องแตะตัว ก็สามารถกระทำการทรมานได้ หากกระทำการเป็นเวลายาวนาน ไม่สามารถบอกกับผู้อื่น ญาติ ทนายความ คนสนิทได้
หลายกรณีสามารถนำเรื่องฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ แต่ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ หรือนอกจากนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย อาจจะจำเป็นต้องการขบวนการอื่นที่ไม่ใช่เครื่องมือทางกฎหมาย
พ.ต.อ.อภิชาติ ศรีทองกุล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรกาญจนบุรี เห็นด้วยที่ต้องมีกลไกตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจน ส่วนของตำรวจการพิสูจน์ผู้ถูกกล่าวหา การที่จะดำเนินการจับกุมแพะ ในช่วงหลังๆก็มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีการกระทำผิดซึ่งหน้าจึงจะจับกุมได้ และมีพยานหลักฐานซึ่งต้องมีการออกหมายจับ เห็นด้วยกับการดำเนินการผ่านอัยการ เพื่อขอออกหมายจับจากศาล
ภาพรวมการทำงานของพนักงานสอบสวน เมื่อจับกุมผู้ต้องหามา หากมีการรับสารภาพ ต้องมีการรวมรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ ไม่มีการทรมานเพื่อให้ได้คำรับสารภาพแต่อย่างใด จะจับกุมผู้ใดต้องมีพยานหลักฐานเท่านั้น ขอยืนยันจากประสบการณ์การทำงานเป็นพนักงานสอบสวนมา ๒๐ ปี
พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ กล่าวเสริมว่าปัญหากระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้าควบคุม เชื่อถือได้มากกว่าการตรวจสอบโดยบุคคล กฎหมายนี้ อาจจะไม่สำเร็จใน ๓ ปี การซ้อมทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาสะท้อนว่าหัวหน้าหน่วยงานรัฐรู้เห็นเป็นใจ ความจริงใจของรัฐโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้น แต่ระหว่างนี้ ขอเสนอว่า ผู้บังคับการควรออกคำสั่งว่าหากมีการตรวจค้น หรือจับกุม ต้องรายงานเข้าศูนย์วิทยุเป็นหลักฐานไว้ทันทีทุกครั้ง
ระหว่างนี้ประชาชนก็ยังต้องอยู่ในความเสี่ยงไปก่อน จนกว่าจะมีกฎหมายออกมา ในสังคมที่ดี การโต้แย้งอะไรต้องมีเหตุผลที่เปิดเผยได้ ต้องไม่มี “ไอ้โม่ง” ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครคอยขัดขวาง ประชาชนต้องช่วยกันเปิดโปง