ปัญหาขับขี่รถบนทางเท้าและการบังคับใช้กฎหมายของกทม.

ปัญหาสำคัญของทุกรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจก็คือ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบหรือประเมินผลการทำงานในแต่ละด้านได้ว่าประสบความสำเร็จและมี ต้นทุนค่าใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่?

หน่วยราชการด้วยกันหรือแม้กระทั่งสื่อและโพลสำนักต่างๆ ก็ล้วนเกรงใจ รวมทั้ง ไม่กล้า ที่จะพูด เขียน หรือรายงานข้อมูลปัญหารวมทั้งทำการสำรวจวิจัยอย่างตรงไปตรงมา

สภาแต่งตั้งจากคณะยึดอำนาจ ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรในการตรวจสอบเรียกให้หน่วยงานรัฐมาชี้แจงหรือตั้งกระทู้ถามความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ ขอคำตอบหรือคำอธิบายจากผู้รับผิดชอบให้กระจ่างอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีโอกาสอภิปรายไม่ไว้วางใจตามกลไกระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ปัญหา กดดันให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเกิดความ ละอาย “ประกาศลาออก” หรือ ส.ส.ช่วยกันยกมือไล่ให้พ้นจากตำแหน่งไป

                ผู้มีอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทุกยุคสมัย จึงได้แต่ พูดเองเออเอง ว่า การทำงานในเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ผลดี มีปัญหาอะไรก็ได้จัดการแก้ไขให้ประชาชนจนหมดสิ้น เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด?

                และถ้าทุกยุคสมัยไม่มีอำนาจพิเศษไว้ออกคำสั่ง ทำให้เรื่องที่มีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบทั้งอาญาแพ่งหรือทางปกครอง ฟ้องร้องอะไรไม่ได้ด้วยแล้ว

การบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นไปอย่างสะดวกและง่ายดายเช่นนี้หรือไม่?

ในประวัติศาสตร์ ทุกอำนาจที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากหลายฝ่ายตามระบบกฎหมายนั้น เป็นอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและความเป็น “นิติรัฐ”  หรือรัฐประชาธิปไตยอย่างยิ่ง                   

               ระบอบประชาธิปไตยจึงดีกว่าเผด็จการ ก็เพราะมีระบบการตรวจสอบที่ประชาชนสามารถทำได้หลายช่องทางนั่นเอง

เรื่องหนึ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีพูดอยู่เสมอก็คือ จะทำอย่างไรให้คนไทยเคารพกฎหมาย และรัฐก็สามารถบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัดจริงจังเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขและความยุติธรรม

เป็นสิ่งแรกที่คนไทยเองรวมทั้งชาวต่างประเทศที่มาอยู่เมืองไทยก็ได้บ่นและอยากเห็นเช่นเดียวกัน

                การพูดกันแต่ว่า ได้สั่งหรือกำชับการปฏิบัติ ต่อผู้รับผิดชอบไปแล้วอย่างนั้นอย่างนี้

สำหรับองค์กรที่มีโครงสร้างและระบบงานที่มีปัญหาเช่นตำรวจจึงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อย่างแท้จริงเลย

งานรักษากฎหมายของประเทศจึงต้องได้รับการปฏิรูปทั้งระบบ ทั้งตำรวจ แบบมียศ และ “ไม่มียศ  ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แล้วแทบทุกกระทรวงทบวงกรม

                เช่น คุณวิเชียร ชิณวงศ์  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่จับกุมเจ้าสัวหมื่นล้านจนได้รับรางวัลยกย่องจากต่างประเทศนั้น

ตามกฎหมายก็ ถือเป็นตำรวจเฉพาะด้าน ที่ไม่มียศแบบทหารคนหนึ่ง ทำหน้าที่คุ้มครองป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในเขตรับผิดชอบ  แต่ที่ขาดอยู่ก็คือ อำนาจสอบสวนดำเนินคดีเหมือนที่ทั่วโลกเขามีกันเท่านั้น         

                ตำรวจทั้งสองแบบคือมียศและไม่มียศ ต้องได้รับการเปรียบเทียบว่า อย่างไหนจะสามารถรักษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดคุ้มค่ามากกว่ากัน?

และประเทศที่เจริญทั่วโลก เขาจัดระบบงานรักษากฎหมาย ด้วยการกระจายหน่วยตำรวจและอำนาจสอบสวนไปหลายหน่วยงานที่มีความจำเป็นและสามารถทำได้ด้วยกันทั้งสิ้น

โดยมีอัยการเป็นองค์กรตรวจสอบควบคุมอีกชั้นหนึ่งสำหรับการสอบสวน คดีสำคัญ หรือ เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยใด

มีประเทศใดหรือไม่ที่ทั้งตำรวจและงานสอบสวน ถูกผูกขาดและ รวมศูนย์อำนาจ ไว้เพียงองค์กรเดียวที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย มีแม้กระทั่งข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสอบสวนเหมือนประเทศไทย?

อย่างปัญหา ป้าพลังขวาน ที่ปฐมเหตุเกิดจากจัดตลาดนัดผิดกฎหมาย ทำให้มีการจอดรถขวางหน้าบ้าน   ป้าบอกว่า ได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจศูนย์วิทยุ 191 รออยู่กว่าครึ่งชั่วโมง ก็ไม่เห็นมา!

                ถ้าเป็นประเทศที่เจริญ เรื่องนี้ต้องถูกตรวจสอบด้วยว่า  เป็นเพราะเหตุใด ใครเป็นผู้รับผิดชอบทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บริหาร?

รวมทั้งเหตุการณ์ ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า  ชนนักเรียนคนหนึ่งจนบาดเจ็บเป็นข่าวนั้น

ก็ล้วนเกิดปัญหาระบบงานรักษากฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้ง หรือป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมากมายได้

ทุกหน่วยงานที่พบผู้กระทำผิด หากไม่ยอมให้ปรับ ก็ต้องใช้วิธีทำหนังสือให้เจ้าหน้าที่ถือไปกล่าวโทษต่อหัวหน้าสถานีตำรวจให้สอบสวน ออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหา หรือหากไม่มาก็เสนอศาลออกหมายจับตัวมาดำเนินคดีด้วยกันทั้งสิ้น

การกระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครจำนวน 26 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและสิ่งก่อสร้าง พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและอีกมากมาย ที่มีการละเมิดเกิดขึ้นปีละหลายพันหรืออาจนับหมื่นเรื่อง

จึงเป็นไปอย่างล่าช้า มีคดีค้างคาอยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ 88 สถานีอยู่นับไม่ถ้วน เนื่องจากพนักงานสอบสวนตำรวจมีปัญหาทั้งเรื่องขาดขวัญกำลังใจ และไม่มีความรู้ความชำนาญในกฎหมายเฉพาะด้าน

และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ตำรวจส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นพนักงานสอบสวน!

แต่ละคนพยายามวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น เพื่อแย่งกันไปทำงานสืบสวนซึ่งถือว่าสบายและหาเงินได้มากกว่า หรือโบกรถราจัดการจราจรแทน?

ต่อปัญหาการดำเนินคดีของกรุงเทพมหานครนี้ อันที่จริงได้มี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 90 นอกจากจะได้บัญญัติให้ข้าราชการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่มีในความรับผิดชอบ 26 ฉบับแล้ว

ก็ยังให้มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลได้เอง

ทุก 50 เขต ก็มีความพร้อมทั้งเรื่องอาคารสถานที่และบุคลากรผู้มีคุณวุฒิทางกฎหมาย สามารถดำเนินการสอบสวนได้ทันที

แต่ปัจจุบัน การใช้อำนาจนี้กลับมีปัญหา เพราะอัยการที่รับสำนวนจากกรุงเทพมหานครครั้งแรกเมื่อ 28 ปีที่แล้วบอกว่า กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ออกกฎกระทรวงรองรับการใช้อำนาจสอบสวนดังกล่าว

เป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่? และถ้าไม่มี จะทำให้การสอบสวนคดีต่างๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนั้นหรือ? แล้วการปรับ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจสอบสวนหรืออย่างไร ทำไมกรุงเทพมหานครจึงเปรียบเทียบปรับได้?

เรื่องนี้มีทางออกสองทางคือ ในคดีที่ผู้ต้องหาปฏิเสธ หัวหน้าเขตต่างๆ ควรสั่งให้ฝ่ายเทศกิจต่างๆ ดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการสั่งคดีอีกครั้ง โดยยืนยันว่าเป็นการใช้อำนาจที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างชัดเจน  

                หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ สั่งให้กรุงเทพมหานคร เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติมาให้ลงนามโดยเร็ว.

 

ดาวน์โหลดเอกสาร

About The Author