คนรวย “ตบแล้วจ่าย” คดีเคลียร์ได้ ตำรวจมีวิธีสอบสวนอย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ช่วงเวลานี้ พรรคการเมืองต่างๆ กำลังช่วงชิงกันหาสมาชิกเพื่อมาสมัครผู้แทนราษฎรทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อกันอย่างขะมักเขม้น
หวังได้เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ หรือ “ได้เข้าร่วม” ก็ยังดี
จะได้มีโอกาสนำนโยบายและความผิดไปผลักดันให้เกิดผล เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือแม้กระทั่งตนเองและพวกพ้องด้วย ไม่ว่ากัน
แต่ยังไม่เห็นพรรคไหนมีนโยบายเรื่องปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งระบบงานสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจน
การบอกแต่ว่า จะทำตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชนนั้น คงไม่พอ!
เพราะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รู้ว่า จะทำอะไรบ้างในแต่ละข้อ แต่ละเรื่อง?
เช่น จะยุบ หรือลดบทบาทและงบประมาณของกองบัญชาการตำรวจภาค ให้มีแต่ตำรวจจังหวัดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ก็พูดให้ชัดไปเลย
อย่างงานสอบสวนนั้น จะทำให้เป็นอิสระจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม ให้ทุกกระทรวงที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเฉพาะทางมีอำนาจสอบสวนได้แบบคู่ขนาน
รวมทั้งให้อัยการมีอำนาจตรวจที่เกิดเหตุ ควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ หรือเมื่อประชาชนร้องเรียนเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลก
ก็ควรพูดให้เคลียร์ว่า เห็นด้วยหรือไม่?
หากไม่ใช่แนวทางเหล่านี้ แต่ละพรรคจะมีวิธีแก้ปัญหาตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์ รวมทั้งการสอบสวนยัดข้อหาประชาชน หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานล้มคดีอย่างไร?
กรณี เสี่ยใหญ่ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมคนหนึ่งไม่พอใจพนักงานเสิร์ฟหญิง ผู้ทำตนเป็นพลเมืองดี ที่ห้ามไม่ให้ตนสูบบุหรี่ในห้องอาหารโรงแรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่ห้ามตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มาตรา 6 มีโทษปรับถึงสองพันบาทตามมาตรา 12
จึงเดินไปใช้ฝ่ามือตบหน้าเธออย่างแรง
เหตุการณ์ดังกล่าว เธอในฐานะผู้เสียหายได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันเดียวกันคือ 7 พ.ย.2561
เวลาผ่านมาเกือบยี่สิบวัน แต่คดีไม่มีความคืบหน้า
เธอเห็นท่าไม่ได้การ จึงได้นำคลิปเหตุการณ์ถูกตบออกเผยแพร่ผ่านยูทูบ ผู้คนเห็นกันทั่ว
หลังเป็นข่าวในสื่อหลัก ตำรวจไทยจึงเหมือนคนถูกไฟลนก้น!
บางคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีความหมาย? หากไม่มาตามหมายเรียก จะเสนอศาลออกหมายจับทันที
เสี่ยใหญ่ทานกระแสสังคมไม่ไหว จึงไปพบตำรวจตามนัดหมาย
สุดท้ายมี รองผู้บังคับการตำรวจจังหวัดคนหนึ่ง เป็นตัวกลางเจรจา ให้เสี่ยใหญ่จ่ายน้องแนทไปสี่หมื่น จับมือถ่ายรูปกันชื่นมื่น ปรับเข้าหลวงอีกหนึ่งพัน
เป็นอันจบคดี ต่างแอบแยกย้ายกันแบบเงียบๆ ลงจากสถานีตำรวจไป
แต่ผู้คนที่รู้กฎหมายต่างข้องใจว่า คดีทำร้ายร่างกายซึ่งเป็นอาญาแผ่นดิน ทำไมจึงจบได้ในชั้นตำรวจ? ไม่ต้องสอบสวนส่งอัยการฟ้องศาล?
ถ้างั้น คนมีเงิน เมื่อไม่พอใจใคร จะต่อยตบหรือแม้กระทั่งเตะกระทืบก็ได้
แล้วสุดท้าย ก็ใช้วิธีจ่ายเงิน จ่ายค่าปรับให้ตำรวจ คดีเป็นจบกันไป?
การตบหน้าผู้อื่น “ถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่ง” เป็นความผิดต่อรัฐตามกฎหมายอาญาคาบเกี่ยวกันอยู่สองมาตรา
ถ้าก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ก็ผิดมาตรา 295 “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี”
แต่ถ้าไม่เกิดอันตรายแก่กายหรือแม้กระทั่งไม่กระทบจิตใจอะไร ก็เป็นความผิดลหุโทษตาม มาตรา 391 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน
ปัญหาคือ น้องแนทถูกตบหน้าอย่างแรง ตอนไปแจ้งความหรือให้สัมภาษณ์ก็บอกว่า
“ตนทั้งเจ็บและอาย”
นั่นหมายความว่า การตบนั้น “ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจผู้อื่น” แล้ว
ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 391 กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจไม่ว่าระดับใดมีอำนาจเปรียบปรับได้ ต้องสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลพิพากษาลงโทษ
แต่ตามบันทึกประจำวันในการตกลงจ่ายค่าเสียหายให้น้องแนทลงชื่อกลับระบุว่า การตบนั้น “ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ”
เป็นความจริงหรือไม่?
คนถูกทำร้ายไม่ว่าจะเป็นการชกต่อยหรือแม้แค่ตบ เรื่องที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น มีด้วยหรือ?
แต่สำหรับประเทศไทย คดีประเภทนี้ ถ้าเป็นคนรวยกระทำต่อคนจนหรือคนมีอำนาจกระทำต่อผู้มีสถานะต่ำกว่า
ก็มักจะจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายรับเงินและการปรับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจแทบทั้งสิ้น!
โดยใช้วิธีลงบันทึกประจำวันให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานว่า “การทำร้ายนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือแม้กระทั่งจิตใจ” แต่อย่างใด
อย่างกรณีปรากฏคลิปลูกผู้พิพากษาคนหนึ่งตบหญิงสาวพนักงานบริษัทโทรศัพท์มือถือกลางห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา
คดีก็จบลงด้วยการเจรจาของตำรวจ ผู้ต้องหาจ่ายเงินให้หญิงสาวผู้เสียหายห้าหมื่น ถ่ายรูปลงข่าวกันชื่นมื่น จ่ายค่าปรับเข้าหลวงอีกห้าพัน คดีเป็นอันจบกัน
คนรวยหรือคนมีอำนาจในประเทศไทย เมื่อไม่พอใจใคร จึงเข้าไปชกต่อยหรือตบตีอย่างไรก็ได้ หากไม่เป็นข่าว ตำรวจก็ไม่ได้กระตือรือร้นในการออกหมายเรียกหรือหมายจับมาดำเนินคดีอะไร
แต่หากเป็นข่าวอื้อฉาว ก็จะมีตำรวจผู้ใหญ่เป็นตัวกลางในการเจรจา กล่อมให้ผู้ต้องหาจ่ายเงินผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง
แลกกับการลงชื่อในบันทึกประจำวันว่า “การทำร้ายนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายและจิตใจ”
เพื่อที่จะได้ไม่ต้องดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการฟ้องศาลให้พิพากษาลงโทษตามกฎหมายเหมือนคนจนทั่วไป
ทั้งคดีลูกผู้พิพากษาชกต่อยพนักงานสาวที่ห้างเซ็นทรัลพื้นที่ สน.บางยี่ขัน เมื่อสองสามเดือนก่อน รวมทั้งคดีตบน้องแนทในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งสองคดีที่จบลงด้วยการปรับของตำรวจอ้างว่าไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนี้
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าตรวจสอบว่า
การสอบสวนทั้งสองคดีที่สรุปและลงบันทึกประจำวันว่า “การทำร้ายนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจของผู้เสียหาย”
ตรงกับความเป็นจริง และเป็นการปรับที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?.