งานสอบสวนรวมศูนย์อยู่กับตร.ความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย

ปรัชญาการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ก็คือ “บุคคลย่อมเสมอกันโดยกฎหมาย” 

แต่ก็มีคำพูดสอดแทรกขึ้นมาตั้งแต่โบราณว่า “อัธยาศัยไมตรีไม่มีถึงประชา อาญาไม่ถึงชนชั้นสูง”   หรือที่ผู้คนชอบพูดกันในสมัยนี้ก็คือ “คุกไทยมีเอาไว้ขังคนจน” 

            คนรวยหรือมีอำนาจ “แจ้งความง่าย แต่ติดคุกยาก” ส่วนคนจน “แจ้งความยาก แต่ติดคุกง่าย!

เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในปัจจุบัน?

นอกจากนั้นยังมีปัญหา “แพะ” ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวอีกมากมาย โดยเฉพาะในชั้นการจับกุมหรือกล่าวหาของตำรวจ

ส่วนงานสอบสวนคดีอาญาก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันในการค้นหาความจริงให้ความยุติธรรมกับผู้คนได้

หรือแม้แต่ในการสั่งคดีของอัยการ ก็มีผู้คนจำนวนมากร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

รวมแม้กระทั่งการพิจารณาคดีถึงที่สุดในชั้นศาล ก็มีผู้ร้องขอให้นำคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่มากมาย   ด้วยเหตุว่าปรากฏพยานหลักฐานในการพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด

ทำอย่างไรจะทำให้สังคมไทยมีการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจรวยหรือจน รวมทั้งปัญหาเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ของบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้เสียหาย ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายต้องแปรเปลี่ยนไปตามฐานะของบุคคลนั้น

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตำรวจไทยไม่สามารถรักษากฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าหรือว่างานสอบสวน ไม่ใช่เกิดจากปัญหา “เงินเดือนค่าตอบแทน” หรือ “งบประมาณขาดแคลน” อย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบพูดให้ข้อมูลต่อรัฐบาล สื่อมวลชน และประชาชนกันตลอดมาแต่อย่างใด

หัวใจของปัญหาเกิดจากโครงสร้างองค์กรที่ถูกจัดในลักษณะเดียวกับกองทัพ มีระบบบริหารและสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของงานตำรวจซึ่งเป็นการทำหน้าที่รักษากฎหมายเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายที่พร้อมกำจัดสิ่งแปลกปลอมเป็นอัตโนมัติ  

ตำรวจผู้ปฏิบัติต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และใช้ดุลยพินิจตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ตามสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง ภายใต้ระบบตรวจสอบที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหางานสอบสวนที่รวมศูนย์อยู่กับตำรวจแห่งชาติแทบทั้งหมด เมื่อพนักงานสอบสวนในฐานะเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นไม่มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องผู้บังคับบัญชาทุจริตประพฤติมิชอบรับส่วยสินบน การแต่งตั้งโยกย้ายที่แทบทุกคนต้องวิ่งเต้นไม่มีความเป็นธรรม  ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน และปัญหาอีกสารพัด

            จึงส่งผลให้ภารกิจบังคับใช้กฎหมายในหน้าที่ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ประสบความล้มเหลวตามไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้   

ทุกฝ่ายทุกคนสามารถมองเห็นแนวทางปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมและเป็นไปได้ ร่วมกันช่วยผลักดันผ่านรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น ทำให้ระบบตำรวจและงานสอบสวนคดีอาญาประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความมีมาตรฐานสากล สร้างความยุติธรรมทางกฎหมายให้เกิดแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ

About The Author