‘ประยุทธ์’นั่งหัวโต๊ะถกก.ตร.นัดแรกลั่นไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งเด็ดขาด จ่อรื้อดีเอสไอดึงคนนอกที่ไม่ใช่ตร.ร่วมสกรีนคดีพิเศษ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เวลา13.15น.วันที่ 2 ส.ค.2562  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 7/2562 ซึ่งเป็นการประชุม ก.ตร.ครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสตช. ท่ามกลางการวางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ด้วยความเข้มงวด หลังจากมีการลอบวางระเบิดปลอมหน้าป้ายสตช.เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1ส.ค.ที่ผ่านมา และช่วงเช้ามีการลอบวางระเบิดหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร

โดยวาระแรกของการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอการแก้กฏ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561กำลังเป็นที่จับตาเพราะเดือนสิงหาคมเป็นวาระการแต่งตั้งระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก.ปี 62 ที่จะต้องเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 31 ส.ค. โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชม.

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ได้มีโอกาสพูดคุยหารือผู้นำระดับสูงของ สตช. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนการมอบนโยบายส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างมากนัก มีแต่ในรายละเอียดที่จำเป็นต้องเข้าถึงการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจมีหลายข้อที่ต้องปฏิบัติ โดยหลายกิจกรรมปฏิบัติไปบ้างแล้ว อันไหนที่ยังปฏิบัติไม่ได้ก็ให้สรุปมาให้ทราบว่ามีปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งการปฏิรูปจำเป็นต้องปฏิรูปทั้งบุคลากร องค์กรและการปฏิบัติงาน วันนี้ได้ดูโครงสร้างตำรวจทั้งหมดแล้วมี 9 ส่วนด้วยกัน ในการบริหารหน้าที่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจต่างๆของ สตช. ซึ่งมี 10 ศูนย์ ได้ให้เพิ่ม เนื่องจากเป็นประเด็นหลักให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในเรื่องการปราบปรามการหลอกลวงไซเบอร์ต่างๆ ให้ตั้งเป็นศูนย์ให้ชัดเจน และอีกอันเป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลอย่างไอยูยู ให้เพิ่มขึ้นมาอีกศูนย์ เป็นศูนย์ปฏิบัติการนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือเรื่องสำคัญที่เป็นวาระแห่งชาติจะได้มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบ ก.ตร.ข้อหนึ่ง คือ การเลื่อนตำแหน่ง ต้องมีการนับอาวุโสคล้ายคลึงกับของทหารในปัจจุบัน ซึ่งในการนับอาวุโสๆต่าง ถ้าอาวุโสเท่ากันก็นับย้อนลงไป โดยปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 ก็ไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนการแต่งตั้งต่างๆ ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมก่อนพิจารณา ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอบัญชีต่างๆ ที่กองกำกับหรือภาคเสนอขึ้นมาพิจารณา จากนั้นก็พิจารณาในเรื่องความเหมาะสมกับตำแหน่งต่างๆ ตามสัดส่วนที่มีอยู่เดิม ตามอาวุโสที่เสนอมา มีกรอบการทำงานชัดเจนอยู่แล้ว ให้ทุกคนทำตามหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย กติกาต่างๆของ ก.ตร.ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ผมยืนยันว่า ไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งโดยเด็ดขาด และการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ไม่ให้ถูกกล่าวอ้าง ถูกกล่าวหาโน่นนี่มันเสียชื่อ ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้มากมายนักหรอก อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ต้องแก้ไขให้ได้มากที่สุด  ส่วนเรื่องการทำงานของ สตช.ต้องทำงานสนองนโยบายของทุกรัฐบาลด้วย แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่โปร่งใส เป็นรัฐบาลที่ทำถูกต้องทุกอย่างตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ฝากไว้กับ สตช. การเป็นนายกฯ ต้องดูแลในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาลในการมาดูแล สตช.ก็เพียงมากำกับดูแลควบคุมให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กติกาที่เขาทำอยู่ มันมีอยู่แล้วกฎหมายไม่มีละเมิด ไม่มีสร้างปัญหาต่างๆ ก็จบหน้าที่แค่นั้น”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่ารวบอำนาจหลังกำกับดูแล สตช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ด้วยตัวเองว่ า สำหรับดีเอสไอ เชื่อว่าอีกสักพักคงจะมีการพูดคุยเพื่อปรับโครงสร้าง โดยต้องหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรม สำนักงาน กพร. และตนในฐานะรองนายกฝ่ายกฎหมาย โดยนายกฯตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการทำงานของ ดีเอสไอมาหลายเดือนแล้ว เพราะเห็นว่ามีตำรวจปฏิบัติงานอยู่มากเกินไป และอยากได้นักกฎหมายที่ไม่ใช่จาก สตช. มาทำงานด้วย พร้อมกันนี้ยังจะเน้นการให้ความเป็นธรรม ซึ่งดีเอสไอจะต้องดูแลคดีพิเศษเท่านั้น โดยมี 2 แนวทางในการพิจารณาคดีพิเศษ 1.อธิบดีดีเอสไอเป็นผู้พิจารณา 2. ให้คณะกรรมการคดีพิเศษเป็นผู้พิจารณา

“แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าประชาชนไปร้องตำรวจ แล้วตำรวจเกิดเมินเฉย ช้า ไม่ได้ดั่งใจ จึงยกขบวนมาอย่างดีเอสไอ บางทีมาเยอะเหมือนม็อบ มานอนอยู่หน้าดีเอสไอ ซึ่งถ้าดีเอสไอไปรับเข้า บางครั้งก็จะทำให้เสียระบบ จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ หากตำรวจช้า ก็ต้องเล่นงานตำรวจ ไม่ใช่ช้าก็โอนมาดีเอสไอ เพราะไม่งั้นถ้าดีเอสไอช้า ก็คงจะตั้งกรมอื่นแทนดีเอสไอ ข้อสำคัญคือ ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ดี เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้ทำให้ตำรวจและดีเอสไอขัดแย้งกัน”

นายวิษณุ กล่าวยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กำกับดูแลดีเอสไอด้วยตัวเอง เพราะ หวังจะใช้ดีเอสไอดำเนินการในเรื่องคดีความต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงไปคุมด้วยตัวเอง แต่หากต้องหารใช้จริง ก็สามารถใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะลงไปเปิดตัว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการลงไปดูเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น โดยหลังจากนี้คาดว่าคดีความต่างๆที่จะเข้าดีเอสไอ จะต้องมีการสกรีนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้น ดีเอสไอย่อหย่อน เนื่องจากชาวบ้านมาร้องขอ ซึ่งเมื่อดีเอสไอทำคดีได้เร็ว ตำรวจก็เกิดความน้อยใจ ทั้งนี้ อะไรที่เป็นหน้าที่ของตำรวจ ตำรวจก็จะต้องทำ เพราะคดีที่จะเป็นคดีพิเศษจะต้องเข้าเกณฑ์ หรือเป็นคดีที่มีอธิพล คดีสำคัญซึ่งตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ โดยคดีพิเศษนั้น อัยการสามารถลงมาสอบด้วยได้

 

About The Author