คดีแพรวา กับการแสวงหาความยุติธรรมของทุกฝ่าย – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ยุติธรรมวิวัฒน์
   

คดีแพรวา กับการแสวงหาความยุติธรรมของทุกฝ่าย

 

                           พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

กรณีนางสาวแพรวาถูกอัยการฟ้องคดีอาญาข้อหาขับรถประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตายรวม 9 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2553

เธอถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อ 22 เม.ย.57 ให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาเป็นเวลา 4 ปี มีการคุมประพฤติ 3 ปี  รายงานตัวทุกสามเดือน ทำงานบำเพ็ญประโยชน์อีก 48 ชั่วโมงภายในสองปี และห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25

คดีถึงที่สุด เนื่องจากศาลสั่งไม่รับฎีกาด้วยเห็นว่า ไม่มีประเด็นซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้

ถือว่าการลงโทษคดีอาญาเป็นอันจบไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตั้งแต่ปี 2557

ส่วนใครจะเห็นว่าเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ ก็ต่างจิตต่างใจ

หลายคนอาจคิดว่า เธอน่าจะถูกจำคุกส่งตัวเข้าสถานพินิจ เพราะประมาททำให้คนตายถึง 9 ชีวิต และค่าสินไหมก็ยังไม่ได้ชดใช้ให้เรียบร้อยเป็นพอใจของผู้เสียหายทุกคน

แต่ความที่เธอเป็นเยาวชนอายุเพียง 16 ปีเศษ แม้ศาลจะพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ก็ปรานีด้วยเห็นว่ายังมีอนาคตอีกยาวไกล ประกอบกับไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยเจตนา ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล รวมทั้งได้มีการชดใช้บรรเทาความเสียหายไปแล้วบางส่วน จึงรอลงอาญาไว้ 4 ปี

เหลือแต่ความรับผิดทางแพ่งที่ตกลงกันไม่ได้ นำไปสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งต่อเธอและผู้ปกครองคือบิดามารดา

คนส่วนใหญ่สงสัยว่า เมื่อถูกลงโทษอาญาแล้ว เหตุใดเธอและครอบครัวจึงไม่ยอมชดใช้ความเสียหายทั้งหมดเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป

แต่ถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรม ก็จะพบว่า นอกจากความเสียหายที่ฟ้องจะมีจำนวนสูงถึง 113 ล้านบาทแล้ว  เธอยังมีข้อต่อสู้เรื่องคนขับรถตู้โดยสารก็มีส่วนประมาทด้วย ต้องการแสดงให้ศาลเห็นเพื่อลดค่าสินไหมทดแทนลงตามส่วนเพื่อความยุติธรรม

โจทก์และจำเลยต่อสู้คดีกันไปมาอยู่ห้าปี จนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 ให้ทั้งเธอและบิดามารดาในฐานะผู้ปกครองร่วมกันชดใช้ความเสียหายรวม 26,881,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่ทำละเมิดคือวันเกิดเหตุ

ที่บิดามารดาต้องรับผิดชดใช้ด้วย ก็เนื่องจากเธอยังเป็นผู้เยาว์และผู้ปกครองไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่า ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบุตรอย่างเพียงพอ

หลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามผู้ถูกฟ้องทุกคนได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ขอให้ศาลลดค่าเสียหายลงส่วนหนึ่ง จากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ 26,881,137 บาท

โดยยกประเด็นว่า นางนฤมลคนขับรถตู้โดยสารที่เสียชีวิตก็มีส่วนประมาท เนื่องจากขับรถเร็วเช่นกัน และที่สำคัญได้เบี่ยงเข้ามาในช่องทางเดินรถของเธออย่างกะทันหัน

ทำให้ศาลอุทธรณ์รับฟังและเห็นใจ โดยได้มีคำพิพากษาให้ลดลงจำนวนหนึ่งเป็นชดใช้รวม 21,626,925 บาท

ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นฎีกา

แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประมาทของนางนฤมลคนขับรถตู้ไม่ได้ถูกหยิบยกไว้หรือทำให้ปรากฏในการพิจารณาของศาลอาญา

และตามกฎหมาย การวินิจฉัยคดีแพ่งต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องความประมาทของคนขับรถตู้โดยสาร

จึงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ลดการชดใช้ความเสียหายลงเหลือเพียง 21,626,925 บาท         โดยได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 เปลี่ยนเป็นให้ชดใช้ 24,756,925 บาท คดีเป็นอันถึงที่สุด

 กล่าวได้ว่า ขณะนี้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาของศาลทั้งหมดรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 แล้ว เท่ากับทั้งพ่อแม่และแพรวาต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาทเศษ

ต้องยอมรับว่า ความล่าช้าในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการต่อสู้คดีแพ่งทั้งสามศาลเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้ผู้คนในสังคมก่นด่าเธอและครอบครัวแม้กระทั่งวงศ์ตระกูลอย่างเสียหาย

จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องให้ชดใช้หรือที่ศาลได้พิพากษาดังกล่าว จะน้อยหรือมาก ไม่มีใครอยากคิด หรือหวังมาทดแทน 9 ชีวิตที่สูญไป ไม่ว่าจะเป็นใคร  รวมทั้งอีกหลายรายที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุในวันนั้น

อันที่จริง การต่อรองกันในเรื่องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน

เมื่อเธอคิดว่าอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากความประมาทของเธอฝ่ายเดียวที่ถูกหาว่าขับรถเร็วเกินกำหนด     เนื่องจากคนขับรถตู้คู่กรณีก็มีส่วนประมาทเพราะขับรถเร็วเช่นกันและเบี่ยงเข้ามาในช่องทางเดินรถของเธอ

การชดใช้ค่าเสียหายที่ต้องชดใช้จึงควรได้รับการพิจารณาตามส่วน โดยอีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบเพื่อลดในส่วนของเธอด้วย แม้จะถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม

แต่พยานหลักฐานที่จะแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประมาทของนางนฤมลคนขับรถตู้ในประเด็นการขับรถเร็ว และเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ไม่ทราบว่าได้ถูกรวบรวมไว้ทำให้ปรากฏเป็นที่ยุติทางคดีตามกฎหมายว่าประมาทด้วยหรือไม่?

ซึ่งหากมีการดำเนินคดีสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วสุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะเหตุคดีอาญาเป็นอันระงับไปตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย

แต่ข้อเท็จจริงของการกล่าวหานั้น ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญทำให้แพรวาและครอบครัวหยิบยกขึ้นเพื่อได้รับความเป็นธรรมในการชดใช้ทางแพ่งได้ ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขับรถประมาทที่ต้องรับผิดชอบชดใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว

ความยุติธรรมนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มนุษย์ทุกคนแสวงหารวมทั้งต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด

การรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาโดยเฉพาะในชั้นสอบสวนจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อชาติและประชาชนอย่างยิ่ง 

การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีหรือแม้กระทั่งกรณีการพิจารณาพิพากษาของศาล ก็ล้วนแต่ใช้พยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเป็นหลักทั้งสิ้น

ถ้าไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานทำให้ปรากฏไว้ในชั้นสอบสวน อัยการและศาลก็ไม่มีโอกาสหยิบยกข้อเท็จจริงนั้นไปประกอบการวินิจฉัยได้

อย่างไรก็ตาม คดีความต่างๆ เมื่อศาลอาญาหรือแพ่งได้พิจารณาและมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว

ไม่ว่าฝ่ายใดจะรู้สึกว่ายุติธรรมหรือไม่? โดยกฎหมายถือว่าทุกคนหมดทางไป ล้วนแต่ต้องยอมรับด้วยกันทุกฝ่าย

ในส่วนของจำเลย ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากดีมีจนอย่างไร ก็มีแต่ต้องก้มหน้าหาเงินมาชดใช้ผู้เสียหายให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาเท่านั้น

 แต่ที่สำคัญ สังคมควรเข้าใจถึงสาเหตุแท้จริงของอุบัติเหตุ ความเป็นธรรมในการลงโทษอาญา รวมทั้งความจำเป็นที่ทั้งสามศาลต้องใช้เวลาในพิจารณาพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอย่างเหมาะสม  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายทุกคนด้วย.

คดีแพรวา

ที่มา: ไทยโพสต์  คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, July 22, 2019

About The Author