ทำไมต้องย้ายสายงานอื่นมาเป็นพงส.’สารวัตรสุริยา’เปิดเบื้องหลังพงส.ขาดแคลน ทำงานเสี่ยงคุก เครียด ใครมีเส้นวิ่งเต้นไปสายอื่น
30มิ.ย.62 พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด สารวัตรสอบสวน สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วยราชการที่ สภ.ยะหา จ.ยะลา ผู้เขียนหนังสือ”ชีวิตพนักงานสอบสวน”โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหลังเกิดเหตุร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.มาบอำมฤต อ.ปะทิว จ.ชุมพร ยิงตัวตายภายในบ้านพักเพราะเครียดที่ถูกย้ายจากรองสาวัตรปราบปรามไปเป็นรองสารวัตรสอบสวน เรื่อง ทำไมต้องย้ายตำรวจสายงานอื่นเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวน
จะอธิบายให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจ ยุคนี้ ประเทศไทยเป็นระบบประชาธิปไตย 1 สลึง ไม่ถึงบาทเมื่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งแล้วก็เป็นกฎหมาย ระบบของตำรวจต้องทำตาม
เมื่อ มีคำสั่ง หน.คสช.ที่ 7/2559 ยุบและยกเลิกระบบแท่ง พงส.แล้ว ทำให้ พงส.ผู้ทรงคุณวุฒิ ยศ พ.ต.อ. ที่เป็น หัวหน้างานสอบสวน ต้องกระเด็นออกจากโรงพัก ไปอยู่ที่ บก. หรือ บช.
มี พ.ต.ท. รอง ผกก.สอบสวน ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน ทำให้ พงส. ที่เข้าเวร หายไป 1 คน เช่น ใน สภ.หนึ่ง มี พงส. 7 คน เป็น หน.งานฯ 1 คน เข้าเวรกัน 6 คน หายไป 1 ก็เหลือเข้าเวร 5 คน
นอกจากนี้ คำสั่งนี้ ที่ยกเลิกการสอบ การประเมิน มาใช้การพิจารณาของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ทำให้ พงส. ส่วนหนึ่ง มองไม่เห็นความก้าวหน้าของตนเอง เพราะ งานสอบสวน เป็นงานปิดทองหลังพระ ไม่ต้องออกสืบสวนจับกุมโชว์ผลงานให้ นาย ได้แถลงข่าว ทำงานมา 20 ปี พงส.บางคนแค่ 2 ขั้นไม่เคยได้ อย่าหวังจะได้เลื่อนตำแหน่ง
นอกจาก ไม่มีผลงานให้นายได้โชว์แล้ว ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องปวดหัวให้นาย ทำคดีล่าช้าบ้าง ถูกร้องไม่รับคดีบ้าง ไม่ให้ความเป็นธรรมบ้าง ฯลฯ
พงส. หลายคน จึงวิ่งเต้น ออกนอกสายงาน ไปอยู่งานปราบปราม งานสืบฯ เพื่อสร้างผลงาน ทำให้ พงส. ในโรงพักขาดแคลน เพิ่มขึ้นไปอีก บางโรงพัก เหลือ พงส.แค่ 1 คน บางโรงพัก ไม่เหลือสักคน ก็มี เพราะคนที่มีอำนาจแต่งตั้งคือ สตช.ในส่วนกลาง ไม่ใช่แค่ กองบัญชาการภาค เหมือนเมื่อก่อน
ทีนี้ เมื่อ พงส. ขาดแคลน ไม่มีใครอยากมาอยู่ จึงต้องหาสายงานอื่นมาทำแทน จึงได้มีการสำรวจ ตำรวจยศ ร.ต.ต.- พ.ต.ท. ว่า ใครมีวุฒิ นิติศาสตร์ บ้าง แล้ว เสนอ ไปยัง สตช. เพื่อออกคำสั่งย้ายมาเป็น พงส.
โดยอันดับแรก เลือกจากคนที่สมัครใจก่อน ซึ่งก็มี ตำรวจ ส่วนหนึ่ง สมัครใจ ที่จะย้ายมาเป็น พงส. แต่ก็ไม่ครบตามจำนวนอัตราที่กำหนด
จึงต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ให้เลือกจาก ตำแหน่งที่อยู่ในโรงพักเดิมก่อน ถ้าไม่มีเลือกจาก โรงพักใกล้เคียง และในคำสั่งของ สตช. ที่ผ่านมา นรต. รุ่น 65 เกือบทั้งรุ่น ที่ย้ายไปสายงานอื่น ทิ้งงานสอบสวนไปไม่น้อยกว่า 4 ปี กลับเข้ามาเป็น สารวัตร(สอบสวน) และรุ่นใกล้เคียง ที่สายไม่แข็ง ก็ถูกย้ายกลับเข้ามา งานสอบสวนเช่นกัน
เพื่อนนักเรียนพลตำรวจของผมที่สอบได้ รุ่น นรต.59 เป็นสารวัตรสืบสวนอยู่ ทิ้งงานสอบสวนมา 10 ปี ก็ถูกย้ายกลับมาเป็น สารวัตรสอบสวน นายร้อยอบรม หลายคน ไม่เคยทำงานสอบสวน พิมพ์ดีดไม่คล่อง ยังถูกย้ายมา งานสอบสวน ไม่ว่า ระดับ รองสารวัตร , สารวัตร หรือ รอง ผกก. ก็มี
สร้างความเครียดให้ผู้ถูกย้าย เป็นอย่างมาก แม้จะจบนิติศาสตร์ แต่ คนที่เรียนกฎหมาย ก็รู้กันว่า ถ้าจบมา 2 -3 ปี ไม่ได้ใช้ ไม่ได้อ่าน ก็ลืม เป็นตำรวจสายสืบ สายปราบปราม มัวแต่หาวิธีสืบสวน จับกุม คนร้าย ข้อกฎหมาย ก็ใช้น้อย
จับยาบ้า ก็ข้อหาเดิมๆ จับคดีลักวิ่งชิงปล้น ก็ข้อหาเดิมๆ
แต่งานสอบสวน มีคดีต่างๆ ข้อกฎหมาย มากมาย ที่ชาวบ้านมาแจ้งความ ต้องแยกองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานความผิดให้ออก แยกเรื่องแพ่ง กับ เรื่องอาญา ให้ออก
ถ้าแยกไม่ออก ตีความแต่เป็นเรื่องแพ่ง ไม่รับคำร้องทุกข์ โดนเรื่องอีก ถ้าเป็นเรื่องแพ่ง ไม่มีอำนาจสอบสวน แต่ ไปออกหมายเรียก มาแจ้งข้อหา ก็โดนฟ้องกลับ 157 อีก…
มีหลายเรื่องที่ทำให้ พงส.ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ทำให้ตำรวจที่ไม่มั่นใจในข้อกฎหมายของตนเอง ที่ร้างลามานาน เกิดความเครียด หลายคนที่มีเส้นสาย จึงวิ่งเต้นไปช่วยราชการในสายงานที่ตนเองถนัด งานสอบสวน มีคนมาดำรงตำแหน่งแล้ว แต่ตัวไม่อยู่ ก็ยังขาดแคลนเหมือนเดิม
นี่คือผลพวงของคำสั่ง หน.คสช. ที่ 7/2559 คนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประชาชนที่มาแจ้งความ คดีอืดล่าช้า ไม่รับคดี พงส.ใหม่ วินิจฉัยข้อกฎหมายไม่แม่น เผลอๆวันดีคืนดีชาวบ้านผิดสัญญาทางแพ่ง อาจตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาโดยไม่รู้ตัว