การตรวจสอบถ่วงดุลการรวบรวมพยานหลักฐาน

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง      

                                             ผู้ก่อตั้งโครงการคืนความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ (Innocence Project Thailand)

พยานหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิสูจน์ความจริงแห่งคดีและนำมาซึ่งคำพิพากษาของศาล แนวทางการปฏิรูประบบสอบสวนในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานตามแนวทางสากลของอารยประเทศมี 4 เรื่องที่ประเทศไทยจำเป็นเร่งด่วนต้องปรับปรุง ดังนี้     

1.การสั่งพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของอัยการ ให้สั่งสอบเพิ่มเติมได้ตั้งแต่เริ่มต้นคดี ไม่ต้องรอให้ส่งสำนวน และไม่ใช่การสอบสวนร่วมกัน เพราะอัยการมีอำนาจสั่งพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอยู่แล้ว เพียงแต่ให้สั่งได้ทันท่วงทีตั้งแต่เกิดเหตุภายหลังจากได้รับรายงานเหตุคดีอาญาจากฝ่ายตำรวจ เพราะการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมจะต้องเริ่มกระทำตั้งแต่ในชั้นรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อป้องกันการลักลอบบิดเบือนพยานหลักฐานฝ่ายเดียวโดยลำพัง การให้อัยการมีอำนาจสั่งรวบรวมพยานหลักฐานสำคัญๆ ตั้งแต่เกิดเหตุ นอกจากจะช่วยป้องกันการสูญหายหรือถูกทำลายของพยานหลักฐานก่อนส่งสำนวนแล้ว ยังทำให้อัยการมีเวลาพิจารณาเนื้อหาและสั่งคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องรอสั่งคดีด่วนในกรณีที่พนักงานสอบสวนจงใจล่าช้าหรือส่งสำนวนก่อนวันครบกำหนดฝากขังควบคุมตัวไม่กี่ชั่วโมง

2.การริเริ่มการสอบสวนคดีของอัยการเพื่อเพิ่มทางเลือกในการคุ้มครองสิทธิประชาชนสามารถริเริ่มคดีได้โดยมีเงื่อนไขสำคัญๆ คือ

2.1 หากเป็นกรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจไม่รับแจ้งความหรือไม่รับดำเนินคดี

2.2 เมื่อคู่กรณีร้องขอความเป็นธรรม

2.3 กรณีเป็นคดีสำคัญๆ อันเป็นที่สนใจของสังคม

การสั่งสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อ 1 หรือการเริ่มคดีเองตามข้อ 2 อัยการสามารถพร้อมปฏิบัติงานได้จริง ซึ่งใช้กำลังพลไม่มาก โดยมีพนักงานสอบสวนสังกัดสำนักงานอัยการช่วยสอบสวนได้

3.จะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาและบังคับใช้กฎหมายหลายหน่วยงานที่สามารถริเริ่มทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้ เพื่อสร้างระบบการสอบสวนทางเลือกในการตรวจสอบถ่วงดุลในชั้นการรวบรวมพยานหลักฐานและสามารถริเริ่มดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกันไปในคราวเดียว โดยหน่วยงานนั้นๆ สามารถส่งสำนวนให้พนักงานอัยการได้เอง เพื่อป้องกันการผูกขาด การบิดเบือนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกที่จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้มากขึ้นโดยไม่ตัดอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ จึงไม่มีกรณีหน่วยงานต่างๆ ไม่พร้อม เพราะยังสามารถใช้บริการการสอบสวนช่องทางเดิมได้

4.กรณีการจับกุมผู้ต้องหา ไม่ว่าเป็นการจับโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีหน้าที่รับผิดชอบหน่วยใดก็ตาม เจ้าพนักงานผู้จับกุมจะต้องนำบันทึกจับกุมรายงานให้อัยการทราบโดยทันที เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด ตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อกล่าวหาดังกล่าวว่ามีเหตุผลเพียงพอและข้อกล่าวหานั้น เป็นการกล่าวหาในฐานความผิดที่หนักเกินความเป็นจริงหรือไม่ โดยอัยการต้องพิจารณาอนุมัติว่ามีเหตุผลพยานหลักฐานอันหนักแน่นที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน พนักงานสอบสวนจึงจะนำข้อกล่าวหานั้นไปขออำนาจศาลฝากขังต่อศาลตามระดับของฐานความผิดและเขตอำนาจศาลได้

ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการถูกกล่าวหาและควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนนานเกินสมควรหรือโดยไม่จำเป็น อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดการฟ้องร้องกลับเจ้าพนักงานของรัฐทั้งในทางอาญาและทางแพ่งให้ต้องรับผิดเพื่อการละเมิดให้ชดใช้ หรือต้องเยียวยาแก่ผู้ต้องหา หรือจำเลย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ซึ่งบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิของจำเลย อันเนื่องมาจากการใช้ดุลพินิจหรือการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมที่เกินขอบเขต หากอัยการพิจารณาการจับกุมแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในคดีนั้นไม่เพียงพอ ก็จะต้องสั่งปล่อยตัวผู้ถูกจับในทันทีเพื่อคุ้มครองและป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นผู้ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย จากการถูกรังแก ถูกกระทำอย่างเลือกปฏิบัติ หรือกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากการใช้อำนาจจับกุมหรือคุมขังโดยไม่ชอบ หรือโดยกลั่นแกล้งตามอำเภอใจ แม้จะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ดีเพียงส่วนน้อย แต่ระบบที่ดีย่อมสามารถช่วยป้องกันคนบริสุทธิ์จากการถูกรังแกและป้องกันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดีส่วนใหญ่ไม่ต้องได้รับความมัวหมองไปด้วย

ระบบการสอบสวนแนวคิดใหม่นี้ เป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาและปฏิรูประบบงานสอบสวนนั้น มีหลายด้านที่จำเป็นต้องกระทำอย่างเร่งด่วน อาทิ การเพิ่มงบประมาณ เพิ่มกำลังพล เครื่องมืออุปกรณ์การทำงาน ค่าตอบแทน การให้อำนาจตำรวจในการใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษเพื่อรับมือกับอาชญากรที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงความเจริญเติบโตก้าวหน้าในสายงานการทำงานเฉพาะของการสอบสวนเอง เป็นต้น แต่การยกระดับมาตรฐานและการปรับปรุงระบบสอบสวนโดยการเพิ่มทางเลือกในการดำเนินคดี และสร้างความโปร่งใสในระบบการตรวจสอบการรวบรวมพยานหลักฐานย่อมเป็นเรื่องสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล

ระบบที่โปร่งใสนี้จะสร้างหลักประกันในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจำเป็นต้องโปร่งใสไม่ผูกขาด ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนจากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อให้พนักงานสอบสวนเกิดความเชื่อมั่นในการทำงาน และมีอิสระอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลจากการถูกแทรกแซงภายนอก จากสายการบังคับบัญชา จากผู้มีอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอิทธิพลจากฝ่ายบริหารระดับสูงหรือฝ่ายการเมือง.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: บทความพิเศษ : Wed , Oct 18  , 2017

 

“กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจำเป็นต้องโปร่งใสไม่ผูกขาด ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนจากหลากหลายหน่วยงาน

เพื่อให้พนักงานสอบสวนเกิดความเชื่อมั่นในการทำงาน และมีอิสระอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติหน้าที่

โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลจากการถูกแทรกแซงภายนอก จากสายการบังคับบัญชา จ

ากผู้มีอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอิทธิพลจากฝ่ายบริหารระดับสูงหรือฝ่ายการเมือง”

About The Author